ไอทีในชีวิตประจำวัน # 294 เลือกอาจารย์กูแทนร้านหนังสือ ()
มีโอกาสเข้าร้านหนังสือประมาณสัปดาห์ละครั้ง และไม่ซ้ำร้านกัน ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับร้านหนังสือตลอดหลายปีที่ผ่านมา พบว่าร้านหนังสือหลายแห่งปิดตัวไป ส่วนร้านที่เปิดอยู่ก็ปรับประเภทสินค้า โดยลดจำนวนหนังสือทางวิชาการ หรือหนังสืออ้างอิงลงอย่างเห็นได้ชัด ร้านค้าปลีกที่อยู่นอกศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า หรือยักค้าปลีก มีแนวโน้มเปิดแล้วก็ปิด เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคนิยมการเข้าไปจับจ่ายในแหล่งที่มีสินค้าหลายหลาย ราคาถูก อากาศเย็นสบาย ที่จอดรถสะดวก และมีแหล่งบันเทิงครบครัน
นโยบายเรียนฟรี 15 ปี มีประเด็นเรื่องหนังสือยืมเรียน ทำให้นักเรียนไม่มีหนังสือที่ขีดเขียนได้เป็นของตนเอง และภาระในการหอบหนังสือไปกลับระหว่างบ้านและโรงเรียนลดลง นักเรียนในระดับประถม และมัธยม จึงไม่มีหนังสือของช่วงชั้นก่อนหน้าไว้อ่าน ไม่มีภาระต้องดูแลรักษาหนังสือที่บ้าน ความรู้สึกรักหนังสืออาจลดลง ประกอบกับคุณครู หรืออาจารย์ส่งเสริมให้นักเรียนค้นคว้าข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต โดยอาศัยอาจารย์กู ที่มาจากคำว่า กู(เกิ้ล) (Google.com) เพื่อใช้สืบค้นให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ ทั้งใช้ทำรายงาน แบบฝึกหัด หาคำตอบที่ต้องการ และหัวข้อโครงงาน เป็นต้น
แนวโน้มปัญหาการจำหน่ายหนังสือของร้านหนังสือทวีความรุนแรงขึ้น เพราะนโยบายที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน บางนโยบายที่สนับสนุนให้มีการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น อาทิ มติของ ครม. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 ได้กำหนดให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี เป็น วันรักการอ่าน แต่มีบางนโยบายที่ส่งผลข้างเคียงให้พฤติกรรมการอ่านหลากหลายลดลง อาทิ หนังสือยืมเรียน การส่งเสริมให้หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตแทนห้องสมุดหรือหนังสือ การเปิดให้มีโรงเรียนกวดวิชา ทำให้นักเรียนจำนวนไม่น้อยเลือกเข้ากวดวิชาด้วยการฟังอาจารย์สอนมากกว่าอ่านหนังสือด้วยตนเองที่บ้าน การขวนขวายหาหนังสือที่หลากหลายมาอ่านลดลง เพราะมุ่งแต่จะอ่านหนังสือที่ต้องใช้สำหรับสอบเข้าตามที่ถูกกำหนดไว้ การจัดห้องเรียนเฉพาะด้านของโรงเรียน ทำให้ความหลากหลายในการเรียนรู้ชีวิตลดลง ดังคำว่าได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง ทั้งหมดจึงเป็นแนวโน้มที่ทำให้เยาวชน วัยรุ่น หรือวัยทำงาน เข้าถึงหนังสือที่หลายหลายลดลง นั่นเป็นปัญหาความอยู่รอดของร้านหนังสือที่พบเห็นได้ในสังคมไทย ที่ต้องปรับตัวไปตามวัฒนธรรมการอ่านหลายหลายที่ลดลงนั่นเอง
|