ไอทีในชีวิตประจำวัน #445 มิจฉาชีพด้านไอที ()
ทุกอาชีพย่อมมีกลุ่มคนแฝงตัวเป็นมิจฉาชีพที่ใช้ความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมา ไปหาเลี้ยงตนเองในทางผิด เช่น แคร็กเกอร์ หรือแฮกเกอร์ ที่เรียนรู้ด้านคอมพิวเตอร์ และรู้ว่าสารสนเทศไหลไปมาอย่างไรในระบบฐานข้อมูล มีข่าวการแฮกข้อมูลธนาคาร เปิดบัญชีซ้อน ดักจับบัตรเครดิต หรือบัตรเอทีเอ็ม จนมีข่าวเผยแพร่อยู่บ่อยครั้ง แม้ผู้ดูแลระบบจะป้องกันเป็นอย่างดี แต่ก็มีมิจฉาชีพมองหาลู่ทาง ช่องโหว่ ใช้ความประมาทของเหยื่อเอง และความบกพร่องของระบบในการเข้ากระทำการที่ผิดกฎหมาย และก่อความเสียหายให้กับเหยื่อ เพื่อประโยชน์ของตนเอง
จากข่าวหนุ่มชาวโรมาเนีย 2 คน ปลอมบัตรเอทีเอ็ม พบหลักฐานเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์มีข้อมูลในแถบแม่เหล็กจำนวน 364 ใบ สำหรับเทคนิคในการปลอมบัตรนั้น มีการเผยแพร่โดยทั่วไป เพื่อหวังให้ทุกคนได้ใช้ความระมัดระวังในการใช้ตู้เอทีเอ็มอย่างปลอดภัย มีอุปกรณ์ที่มักถูกใช้เป็นเครื่องมือ คือ กล้องถ่ายคลิ๊ปแบบซ่อน แป้นพิมพ์ปลอมประกบแป้นพิมพ์รหัสผ่านเพื่อเก็บรหัสผ่านของบัตรแต่ละแผ่น และเครื่องคัดลอกข้อมูลในบัตรด้วยสกิมเมอร์ติดตั้งขวางที่สอดบัตรปกติ
ถ้าสังเกตุตู้กดเอทีเอ็มที่เราใช้บ่อย หากพบการเปลี่ยนแปลงก็ต้องรีบแจ้งพนักงานธนาคารในทันที เพราะถ้ามีการเปลี่ยนแปลงกับตู้เอทีเอ็มที่เราใช้ประจำ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่ากำลังตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพ อาทิ เห็นอุปกรณ์ หรือกระจกมาแขวนเพิ่มที่ด้านบนของตู้ ซึ่งกระจกอาจถูกดัดแปลงให้เพิ่มกล่องถ่ายคลิ๊ปขนาดเล็กเข้าไป แป้นพิมพ์รหัสผ่านเปลี่ยนรูปทรงไปจากเดิมอาจนูนสูงขึ้น หรือที่สอดบัตรเอทีเอ็มมีลักษณะเปลี่ยนไป หรือไม่มีแสงกระพริบเหมือนทุกครั้ง ทั้งสามลักษณะอาจเป็นการกระทำของผู้ไม่ประสงค์ดี เมื่อมิจฉาชีพได้ข้อมูลไปแล้ว ก็จะนำไปคัดลอกลงบัตรใหม่ แล้วไปกดเงินด้วยบัตรที่ใช้รหัสผ่านของเหยื่อจากที่ใดก็ได้ โดยธนาคารให้คำแนะนำว่าเวลากดปุ่มรหัสผ่านให้ใช้มือป้องไว้ไม่ให้คนด้านข้าง หรือด้านหลังมองเห็น เพราะรู้หน้าไม่รู้ใจ และไว้ใจใครไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง
http://hilight.kapook.com/view/100490
http://www.youtube.com/watch?v=TK409iL3M_4
|