ไอทีในชีวิตประจำวัน #502 ขั้นตอนการจัดการความรู้ ()
จากคู่มือการประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2557 บทนิยามศัพท์ หน้า 34 เกี่ยวกับเรื่องการจัดการความรู้ ซึ่งความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคนนั้นจะต้องมีการจัดการ จึงจะทำให้กลายเป็นความรู้ชัดแจ้งได้ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างน้อย 6 ประการ ดังนี้ 1) การกำหนดความรู้หลักที่จำเป็นหรือสำคัญต่องานหรือกิจกรรมของกลุ่มหรือองค์กร 2) การเสาะหาความรู้ที่ต้องการ 3) การปรับปรุง ดัดแปลง หรือสร้างความรู้บางส่วนให้เหมาะต่อการใช้งานของตน 4) การประยุกต์ใช้ความรู้ในกิจการงานของตน 5) การนำประสบการณ์จากการทำงาน และการประยุกต์ใช้ความรู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสกัดขุมความรู้ออกมาบันทึกไว้ 6) การจดบันทึกขุมความรู้ และแก่นความรู้ สำหรับไว้ใช้งาน และปรับปรุงเป็นชุดความรู้ที่ครบถ้วน ลุ่มลึกและเชื่อมโยงมากขึ้น เหมาะต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันระบบฐานข้อมูลหรือบล็อก (Blog) เข้ามามีบทบาทในการจัดการความรู้อย่างชัดเจน จากขั้นตอนข้างต้นจะต้องเริ่มต้นด้วยการประชุมพูดคุยและกำหนดความรู้หลักที่จะทำการจัดการกันก่อน แล้วทุกคนก็ไปเสาะหาความรู้ที่ต้องการจากทุกแหล่งที่มี นำมาปรับปรุง คัดกรอง พัฒนา เลือกใช้และนำไปใช้กับงานของตน หลังใช้งานก็นำบทเรียน ประสบการณ์ไปบันทึก แบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านขุมความรู้ กับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้เกี่ยวข้อง เมื่อมีการพูดคุยกันก็จะได้ความรู้ที่ผ่านการกลั่นกรองที่จะต้องมีการจดบันทึกและปรับให้เป็นชุดความรู้ที่ครบถ้วน และเหมาะสมกับการใช้งานต่อไป โดยสืบค้นได้ในระบบสารสนเทศที่พัฒนาขึ้นเป็นการเฉพาะ
การจัดการความรู้นั้นจะทำงานกันเป็นระบบ ที่ประกอบด้วย input process output และ feedback แล้วก็ทำกันทุกปี โดยเปลี่ยนประเด็นความรู้ที่ต้องการจัดการทุกปี เมื่อทำกันหลายปีก็จะมีแก่นความรู้ให้พนักงานได้เรียนรู้ และต่อยอดการทำงานที่มีประสิทธิภาพได้ทันที ไม่ต้องลองผิดลองถูกให้ต้องเสียทรัพยากรเมื่อมีพนักงานใหม่ หากแก่นความรู้ใดที่สำคัญและน่าจะล้าสมัย หรือพบปัญหา ก็นำมาปัดฝุ่นเข้ากระบวนการจัดการความรู้ได้ เช่น การเรียนการสอนแบบ teacher teaching ที่เคยทำกันมาหลายสิบปี เมื่อถูกนำมาปัดฝุ่นก็จะเปลี่ยนเป็นแบบ learner learning หรือ learning by doing หรือ work integrated learning (WIL) ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละวิชา
|