ไอทีในชีวิตประจำวัน # 507 การประชุมวิชาการด้านไอที 2558 ()
เพื่อนเก่าเคยถามว่าทำงานคอมพิวเตอร์นี้ ทำเกี่ยวกับอะไร คงตอบยากเพราะทำกันหลายเรื่อง โดยปกติคนไอที (Information Technology) จะทำงานอยู่ 3 ลักษณะ คือ การติดตามตรวจสอบ (Monitor) เหมือนฝ่ายสืบสวนสอบสวนของตำรวจ ว่ามีใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน เมื่อไรที่เกี่ยวข้องกับคนและอุปกรณ์ขององค์กร ลักษณะที่สองคือ การบริการ (Service) แก้ปัญหา ช่วยเหลือ พัฒนาระบบแก่หน่วยงาน หรือประชาชน รวมถึงงานด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการสื่อสาร ส่วนลักษณะสุดท้าย คือ นวัตกรรม (Innovation) เป็นงานที่ยากที่สุด เพราะไม่เพียงแต่ไล่ตามเทคโนโลยีในปัจจุบันให้ทัน แต่ต้องคิดให้ไกลกว่า กิจกรรมแบบนี้มักพบในสถาบันการศึกษาที่สอนระดับบัณฑิตศึกษา ที่นักศึกษาต้องทำวิจัย แล้วนำเสนอผลงาน หากไม่ใหม่ ไม่มีประโยชน์ ไม่สมบูรณ์ ก็จะไม่ผ่านการพิจารณา
มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมทางวิชาการระดับชาติ ด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 11 เมื่อ 2 - 3 กรกฎาคม 2558 มีแม่งานคือ รศ.ดร.พยุง มีสัจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ฟังการนำเสนอผลงานวิจัยเชิงนวัตกรรมกว่า 20 เรื่อง มีที่จะนำมาแบ่งปัน ดังนี้ การพัฒนาแบบจำลองพื้นผิวทะเล ที่คุณณัฏฐนันท์ พิพิธพัฒนาปราปต์ ต้องไปสำรวจความลึกของทะเลด้วยตนเองด้วยวิธี sounding แล้วนำมาบันทึก เชื่อมกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ แล้วประมวลผลร่วมกับระดับน้ำทะเลแต่ละวัน เพื่อสร้างแบบจำลองสองมิติ และสามมิตินำเสนอผ่านเว็บไซต์ให้เรือเลือกเส้นทางเข้าเทียบท่า
การประยุกต์ใช้เครือข่าย Tor ซึ่งเป็นช่องทางเสมือน (Virtual Tunnel) เพื่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยไม่ระบุตัวตน คุณสิทธิชัย ชุ่มใจ อธิบายว่าระบบนี้มีประโยชน์สำหรับระบบรับแจ้งรายงานสินบนของตำรวจจราจร ซึ่งทำให้ไม่อาจทราบได้ว่าประชาชนผู้ที่รายงานนั้นมาจากเครือข่ายใด ช่วยให้ผู้รายงานอุ่นใจขึ้น และสามารถรายงานผ่านสมาร์ทโฟนของแอปเปิ้ล ส่วนคุณอัยพรรณ เอโกบล ได้อธิบายการประยุกต์ใช้ JSON (Java Script Object Notation) ด้วยโนเอสคิวแอล (NoSQL) บนมอนโกดีบี (MongoDB) ว่าทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่า เมื่อเทียบกับการใช้กับมายเอสคิวแอล (MySQL)
|