thaiall logomy background

กระดานแสดงความคิดเห็น

my town
อยู่มหาวิทยาลัย 4 ปี จะเป็นคนเก่งคนดีได้ยังไง
ตั้งนะโมดอทคอม econpages@yahoo.com
อาจารย์พลเรือโท สุธน หิญชีระนันทน์
ท่านสอนเศราฐศาสตร์ และเขียนได้ดีมาก ๆ
http://www.tangnamo.com/others/fp.htm
http://www.geocities.com/utopiathai/
http://www.tangnamo.com/others/wk15.htm

นำข้อมูลมา post ที่นี่เพื่อเก็บไว้เปิดดูได้บ่อย ๆ ครับ
=========================================
อยู่มหาวิทยาลัย 4 ปี จะเป็นคนเก่งคนดีได้ยังไง
ผมหายไปจากเว็บไซต์นี้นานพอควร
สาเหตุที่ห่างหายไปก็เหมือนเดิม
งานผมยุ่ง ทั้งงานประจำ งานจร
...
มาเข้าเรื่องที่จะคุยกันวันนี้ดีกว่า
เรื่องของผมก็คงวนเวียนอยู่แถว ๆ นักเรียน นักศึกษา มหาวิทยาลัย อะไรทำนองนี้
เพราะเว็บไซต์นี้เป็นเว็บไซต์เพื่อการศึกษาประการหนึ่ง
เพราะชีวิตประจำวันผม เกี่ยวข้อง ใกล้ชิดกับเรื่องพวกนี้อีกประการหนึ่ง
มีอะไรอยากพูด อยากเล่าให้ฟัง ก็เอามาไว้กันในคอลัมน์นี้
แต่ก็อย่างที่บอกไว้เสมอ ๆ คอลัมน์นี้ เขียนแบบตามใจฉัน
ไม่มีเวลาศึกษาอะไรให้ละเอียดลึกซึ้ง
ความลุ่มลึกจึงไม่ใช่สิ่งที่จะคาดหวังได้
ถ้าความคับแคบ ตื้นเขินก็ได้เลย
...
เรื่องที่ผมจะเล่าสู่กันฟังในวันนี้ เป็นเรื่องที่ผมเคยพูดให้ผู้ปกครองและนักศึกษาใหม่ฟัง
เหตุที่พูดเรื่องนี้ให้ฟังกันก็เพราะว่า
เท่าที่สังเกตดู รู้สึกเหมือนกับว่า เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่ที่เข้ามหาวิทยาลัย
สนใจแต่เรื่องใบปริญญา หรือกระดาษแสดงวิทยฐานะ
หลายคนสนใจแต่ว่าจะได้เกรดอะไร
เรียนยังไง ให้ได้เกรดดี ๆ
ทำยังไงจะได้คะแนนเฉลี่ยสะสมมาก ๆ
หรือทำยังไงให้เรียนจบหลักสูตร
ประเภทขอให้จบ ไม่เกี่ยงเกรดก็มี
หลายคนที่ออกมาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในปัจจุบัน
จึงไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะรับรองได้เสมอไปว่า คนนั้นเป็นบัณฑิตตามความหมายที่ควรจะเป็น
ไม่ใช่สิ่งที่จะรับรองว่าคนนั้น เป็นคนเก่ง คนดี ตามที่สังคมอยากให้เป็น
...
คนเรียนหนังสือเก่ง ๆ ในมหาวิทยาลัย ผมว่าหาไม่ยาก
โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ที่มีคุณวุฒิสูงส่งที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ
ส่วนใหญ่ทุกคนเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง
เก่งในสาขาวิชาที่ร่ำเรียนมา
ส่วนนักศึกษา ถ้าตนเองขยันเรียน ขยันอ่านหนังสือ ถ้าได้อาจารย์สอนเก่ง ๆ ถ่ายทอดดี
ลูกศิษย์ก็เรียนหนังสือเก่งได้
คนเรียนหนังสือเก่งจึงหาไม่ยากในแวดวงมหาวิทยาลัย
โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ทั้งของรัฐบาลและของเอกชน
...
แต่คนดีนี่สิ ดูเหมือนจะมีปัญหา
อาจารย์ดี ๆ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามีมากน้อยขนาดไหน
นักศึกษาดี ๆ ผมก็ไม่รู้อีกว่ามีมากน้อยเพียงใด
...
การพูดคุยให้ผู้ปกครองฟังในวันนั้น
ผมเริ่มด้วยการให้ข้อมูลจากผลการวิจัยเกี่ยวกับวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยเดียวกันกับลูกชาย ลูกสาวของหลายท่าน ที่คณะคุรุศาสตร์ จุฬาฯเคยเผยแพร่ต่อสาธารณชนไว้เมื่อปีสองปีที่แล้ว ถึงแม้ว่างานวิจัยที่ว่าจะไม่ใหม่เอี่ยมถอดด้าม แต่ที่เอามาพูดให้ฟังกันเพราะพ่อ แม่ ผู้ปกครองบางท่าน ยุ่งอยู่กับการทำมาหากิน ทำงานหนักอยู่จนอาจจะไม่ได้สนใจหรือไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้
งานวิจัยที่ว่าเขาสรุปลักษณะของเด็กไทย(บางส่วนและเชื่อว่าน่าจะมีมากขึ้นในอนาคตอันใกล้) ในปัจจุบัน ไว้คือ ขี้เหงา
ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง
มีความอ่อนแอทางด้านจิตใจ
ขาดความสุข
ขาดความยั้งคิด
ต้องการความรวดเร็ว
ตัดสินใจง่าย
ไม่ชอบเรียนหนังสือ
ขี้เกียจ
ชอบมั่วสุม

...
ผมถามพ่อ แม่ ผู้ปกครองว่า มีเด็กในความดูแลของใครเข้าข่ายที่เขาว่ามามั่ง มีหลายคนพยักหน้า มีบางบอกว่าเป็นแต่ไม่ครบทุกข้อ
...
ผู้วิจัยยังสาวไปถึงสาเหตุของการเกิดปัญหาที่ว่า แล้วก็สรุปว่าเกิดจากสังคมไทยเป็น "สังคมโคลนนิ่ง" มีพัฒนาการมาจากโครงสร้างหลักทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม, องค์ประกอบชั้นเปลือกของสังคมที่เพิ่มทับซ้อนมากขึ้น และ ระบบหน่วยย่อยของสังคมไทยที่อ่อนแอลง(ซึ่งจะไม่กล่าวรายละเอียดในที่นี้) กล่าวเฉพาะส่วนของระบบหน่วยย่อยหรือครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับพ่อ แม่ผู้ปกครองโดยตรง ผลการวิจัยบอกว่า พ่อ แม่ ผู้ปกครองมีส่วนทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาดังกล่าวขึ้น ผ่านการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องทำให้เกิดเด็กไทยพันธุ์ใหม่ขึ้น คือ เลี้ยงลูกโอ๋ตามใจ
พาลูกเข้าห้างสรรพสินค้า
ไม่สอนให้ทำงานหนัก
เรียนหนังสือเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย
ระบบโรงเรียน ใช้ทฤษฎีพฤติกรรมเสริมแรงการให้รางวัลเน้นพฤติกรรมตามวัตถุประสงค์
พ่อแม่ให้วัตถุสิ่งของตามคะแนนและเกรดที่เด็กได้รับ
คุณค่าความรักความใกล้ชิดมีราคามากน้อยตามสิ่งของที่พ่อแม่ซื้อให้
ส่วนใหญ่ของชีวิตอยู่กับของเล่นเกมออนไลน์ อินเตอร์เน็ต หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น และอื่นๆ
ทุกครอบครัวไทยนำไปสู่ความสำเร็จด้านการศึกษาด้วยการแข่งขัน กดดัน
...

ผลของสังคมโคลนนิ่งดังกล่าว จะนำไปสู่การสร้างเด็กไทยพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะ 12 ข้อต่อไปนี้ครับ ระดับสติปัญญามีแนวโน้มต่ำลง
สภาพร่างกายอ่อนแอ ขาดภูมิต้านทาน
มีความก้าวร้าวรุนแรง
วัยใสเรียนรู้ทางเพศเร็วกว่าวัย
การแสวงหาความสุขเพื่อนใหม่ทางอินเตอร์เน็ต
วัตถุนิยมเป็นตัวตั้งในการสร้างคุณค่าเชิงปริมาณ
การให้ความสำคัญกับตนเองมากกว่าส่วนร่วม
เด็กขาดรากเหง้าทางศีลธรรม ศาสนา วัฒนธรรม
เกิดภาวะความเครียด การแข่งขัน แยกตนเอง
การมองความสำเร็จในเชิงแบบสำเร็จรูป
การเล่นพนันบอล และ
เด็กทำงานหนักไม่เป็น

และเขาเชื่อว่าเด็กไทยร้อยละ 30 เป็นไปแล้วและจะลุกลามไปหาร้อยละ 70 ที่เหลือในเวลาอันรวดเร็ว
...
นอกจากให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยที่ว่ามาทั้งหมดแล้ว ถ้าเรามองดูสภาพแวดล้อมทางด้านธุรกิจที่มีส่วนผลักดันให้เกิดลักษณะของเด็กไทยในส่วนที่เกี่ยวกับวัตถุนิยม การให้ความสำคัญกับตนเอง การขาดรากเหง้าทางศีลธรรม ศาสนา และอื่น ๆ จะเห็นว่าธุรกิจในปัจจุบันที่มีเด็กวัยรุ่น วัยเรียนเป็นเหยื่อมีอยู่มากมาย
ผมลองเอาโฆษณาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการตัดสินใจซื้อของเด็กวัยรุ่นให้ดู ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับ โทรศัพท์มือถือ โฆษณาให้ดาวน์โหลดริงโทนประเภทที่เป็นโลโก้หรือรูปต่าง ๆ เสียงเพลง ข้อความสาระพัด เช่น อยากเอาเธอ(ไปเลี้ยงที่บ้าน)จัง, หนุ่มทันต์รับ(ทำ) ฟันสาว ๆ ฟรี ฯลฯ รวมถึงการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ประเภทที่มีวัตถุทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงแหล่งมั่วสุมต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ใกล้สถานศึกษา และในพื้นที่ทั่วไป
...
ฟังไป ฟังมา รู้สึกว่าพ่อ แม่ ผู้ปกครองเริ่มหนักใจ
ผู้ปกครองหลายท่านได้รู้ ได้เห็นว่าสังคมเด็กอีกด้านหนึ่งมันมีอยู่จริง
และมันคืบคลาน ไม่ใช่ มันวิ่งไม่ใช่คืบคลานเข้ามาหาเด็กในปกครองของเรา และยิ่งเราเลี้ยงลูกแบบที่เขาว่าด้วยแล้ว มันยิ่งมีโอกาสให้เด็กไทยที่เขารับผิดชอบดูแลอยู่ กลายพันธุ์ กลายเป็นเด็กไทยพันธุ์ใหม่ที่มองดูแล้ว ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาและฝากอนาคตของชาติไว้ได้
...
แต่ทางออกไม่ใช่ว่าจะไม่มี
..
ทางออก คือ อะไร
ทางออก คือ ทางที่จะนำไปสู่พฤติกรรมที่พึงประสงค์ ทางที่นำไปสู่ความเป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ในกรณีของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งแต่ละสถาบันย่อมมีข้อกำหนดหรือข้อคาดหวังกับความเป็นบัณฑิตพึงประสงค์ของตนเองต่าง ๆ กันไป บางทีบอกเน้นความเก่งด้านวิชาการ บางที่เน้นด้านวิชาการและความสามารถด้านภาษา บ้างที่แถมความสามารถด้านเทคโนโลยี ฯลฯ ก็แล้วแต่จะว่ากันไป
...
แต่ในการพัฒนาคนในสถาบันการศึกษานั้น สิ่งที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางประการหนึ่งคือ การสร้างคนเก่ง คนดี และมีความสุข ให้กับสังคม
...
กลับมาที่ประเด็น "อยู่มหาวิทยาลัย 4 ปีจะเป็นคนเก่ง คนดีได้ยังไง"
เอาความหมายของ คนเก่ง คนดี ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเขาบอกไว้ก่อนนะครับ คนเก่ง คือคนที่มีสมรรถภาพสูง ในการดำเนินชีวิต โดยมีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งหรือรอบด้าน หรือมีความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน เช่น ทักษะ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถด้านภาษา ศิลปะดนตรี กีฬา มีภาวะผู้นำ ผู้จักตนเอง ควบคุมตนเองได้ เป็นต้น เป็นคนทันสมัย ทันเหตุการณ์ ทันโลก ทันเทคโนโลยี มีความเป็นไทย สามารถพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ และทำประโยชน์ให้แก่ตน สังคม และประเทศชาติได้
คนดี คือคนที่ดำเนินชีวิตอย่างมี คุณภาพ มีจิตใจที่ดีงาม มีคุณธรรม จริยธรรม มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทั้งด้านจิตใจและพฤติกรรมที่แสดงออก เช่น มีวินัย มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล มีเหตุผล รู้หน้าที่ ซื่อสัตย์ พากเพียร ขยัน ประหยัด มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย เคารพความคิดเห็นและสิทธิของผู้อื่น มีความเสียสละ รักษาสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติสุข
(คนมีความสุข คือคนที่มี สุขภาพ ดีทั้งกาย และจิต เป็นคนร่าเริงแจ่มใส ร่างกายแข็งแรง จิตใจเข็มแข็ง มีมนุษย์สัมพันธ์ มีความรักต่อทุกสรรพสิ่ง มีอิสรภาพ ปลอดพ้นจากการตกเป็นทาสของอบายมุข และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างพอเพียงแก่อัตภาพ)

...
เอาให้เข้าใจได้ง่าย ๆ และไม่ต้องพิธีรีตรองมาก ตามแบบของผม คนเก่ง ก็คือ คนที่คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น
คนดี ก็คือ คนที่มีคุณธรรมและจริยธรรม หรือคนที่คิดดี ทำดี แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอก่อน

...
ปัญหาคือ อยู่มหาวิทยาลัย 4 ปีจะเป็นคนเก่ง คนดีได้ยังไง
เอาแค่พูด ไม่ยากครับ
ก็ต้องให้นักศึกษาแต่ละคนได้มีโอกาสพัฒนาตนเองทั้ง 4 ด้าน ตามแนวทางของพุทธศาสนา การพัฒนากาย ที่เรียกว่า ภาวิตกาโย หรือ กายภาวนา คือ
การพัฒนาการการอยู่ร่วมกันหรือการสัมพันธ์กันในสังคม ที่เรียกว่า ภาวิตสีโล หรือ ศีลภาวนา
การพัฒนาจิตใจ ที่เรียกว่า ภาวิจิตโต หรือ จิตภาวนา
การพัฒนาปัญญา ที่เรียกว่า ภาวิตปัญโญ หรือ ปัญญาภาวนา

...
หรือที่ทางตะวันตกจำแนกเป็นพัฒนาการ 4 ด้าน คือ พัฒนาการทางกาย(physical development)
พัฒนาการด้านสังคม(social development)
พัฒนาการด้านอารมณ์(emotional development)
พัฒนาการด้านปัญญา(intellectual development)

นั่นแหละครับ คือ แนวทางการทำให้เป็นคนเก่ง คนดี ในเวลา 4 ปีที่เรียนมหาวิทยาลัย
...
แนวทางสำหรับนักศึกษาที่จะพัฒนาตนเองให้ไปสู่ความเป็นคนเก่ง คนดี ที่จะเป็นที่พึงปรารถนาของสังคมและบุคคลรอบข้าง พูดกันให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ อย่าเอาแต่เรียนหนังสืออย่างเดียว นั่นมันช่วยพัฒนาแต่เรื่องของความรู้ ความจำ ความเข้าใจในเรื่องบางเรื่องที่เป็นกฎ เป็นทฤษฎี ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์อะไรมากมายในการดำเนินชีวิตในอนาคต เผลอ ๆ เข้าห้องเรียนมากไปอาจจะได้แต่ความรู้ ความจำ แต่คิดไม่เป็น ทำไม่ได้ก็ได้ (ไม่งั้นเขาไม่พูดกันหรอกครับ ว่าเด็กไทยยิ่งเรียนยิ่งโง่)
อย่าเอาแต่เรียนอย่างเดียว คือ เรียนด้วย แต่ทำอย่างอื่นด้วย

ทำอะไรครับ
ก็ทำสิ่งที่มันจะช่วยพัฒนากาย สังคม อารมณ์ซีครับ
พ่อ แม่ผู้ปกครองท่านใดที่ยังไม่เห็นด้วย ไม่เป็นไรครับ แต่ลองคิดนิดนึงนะครับว่า กระบวนการเลี้ยงดูและพฤติกรรมของเด็กของเราเริ่มไปในในทางที่ไม่พึงปรารถนาหรือเปล่า
ท่านต้องการลูกหลานที่เรียนเก่งอย่างเดียว แต่เป็นคนเข้ากับใครไม่ได้ เจ้าอารมณ์หรือเปล่า

ถ้าไม่ต้องการ ท่านต้องสนับสนุนให้เขามีโอกาสพัฒนาตนเองในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากด้านวิชาการด้วย
ถามว่าจะให้ทำยังไง
ง่ายมากครับ ลองเปิดโอกาสให้เด็กที่ท่านดูแลอยู่ หากิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง เช่น เข้าเป็นสมาชิกของชมรมกีฬาต่าง ๆ จะฟุตบอล บาสเกตบอล วอลเล่ย์บอล ฯลฯ ก็ตามแต่ จะได้ช่วยพัฒนาการทางกายให้เป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรง รูปร่างสมส่วน ไม่ใช่สมส่วนด้วยการลดหรืออดอาหาร
หากิจกรรมที่ช่วยให้มีการฝึกฝน การควบคุมอารมณ์ การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ที่จะช่วยแก้ปัญหาที่ไม่พึงประสงค์ของเด็กพันธุ์ใหม่ เช่น ความขี้เหงา ความไม่มั่นใจในตัวเอง การตัดสินใจที่ไม่รอบคอบ ความขี้เกียจ การมั่วสุม(ในทางไม่พึงประสงค์)

สรุปก็คือ ต้องเรียนด้วยและทำกิจกรรมด้วยครับ
ในประเด็นนี้ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หลายรายไม่เข้าใจครับ ว่าทำกิจกรรมไปทำไม
เรียนให้ได้เกรดดี ๆ จบไว ๆ ก็ดีแล้ว อย่างอื่นไม่ต้อง
มันไม่ยังงั้นซีครับ
เรียนดี เกรดดี แต่นิสัยเลว เอาเปรียบคนอื่น ฆ่าน้อง ฟ้องนาย ขายเพื่อน บัดซบแบบนั้นแล้วใครจะคบละครับ มันจะประสบความสำเร็จในชีวิตยังไงครับ เก่งแต่ไม่มีใครเอา
สู้คนที่ไม่เก่งเท่าใด แต่เป็นคนดี เป็นที่ต้องการของทุกคนที่เขารู้จัก
...
สำหรับบางท่านที่เคยเรียนมาอย่างเดียว ที่เคยคิดว่าเรียนหนังสือเก่งอย่างเดียวก็พอแล้วนั้น อาจจะต้องเปลี่ยนทัศนะท่าทีที่มีต่อการทำกิจกรรมเสียใหม่ ที่เคยคิดว่ามันจะแย่งเวลาเรียน มันเสียเวลา มันไม่มีประโยชน์ มันเป็นแหล่งมั่วสุม ฯลฯ
ถ้าคิดอย่างนั้นอยู่ หรือกังวลในประเด็นเหล่านั้นอยู่ก็ไม่เป็นไร ท่านอาจจะขอเข้ามาสังเกตการณ์หรือร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เขาทำกันในมหาวิทยาลัยบ้างก็ได้
...
ถามว่ากิจกรรมเสริมหลักสูตรต่าง ๆ จะช่วยให้หลุดพ้นจากการกลายพันธุ์ไปเป็นเด็กไทยพันธุ์ใหม่ได้ยังไง
ผมเชื่อว่า การทำกิจกรรมจะช่วยพัฒนาให้บุตรหลานของท่านเป็นคนที่มีลักษณะแบบต่อไปนี้ขึ้น ไม่มากก็น้อย กิจกรรม จะช่วยพัฒนาคนให้เป็นคน "ตรงต่อเวลา"
กิจกรรม จะช่วยพัฒนาคนให้เป็นคน "รับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย"
กิจกรรม จะช่วยพัฒนาคนให้เป็นคน "ทำงานอย่างกระตือรือร้น"
กิจกรรม จะช่วยพัฒนาคนให้เป็นคน "สะอาดเป็นระเบียบ"
กิจกรรม จะช่วยพัฒนาคนให้เป็นคน "อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่พูดโอ้อวด"
กิจกรรม จะช่วยพัฒนาคนให้เป็นคน "ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่คดโกง"
กิจกรรม จะช่วยพัฒนาคนให้เป็นคน "พิถีพิถัน ใส่ใจในรายละเอียด"
กิจกรรม จะช่วยพัฒนาคนให้เป็นคน "แยกแยะเรื่องส่วนตัวและความรับผิดชอบในหน้าที่ออกจากกัน"
กิจกรรม จะช่วยพัฒนาคนให้เป็นคน "ทำงานเป็นทีม ใช้ชีวิตเป็นกลุ่ม"
กิจกรรม จะช่วยพัฒนาคนให้เป็นคน "มีจิตสำนึกว่า เราทำเพื่อส่วนรวม ส่วนรวมก็ทำเพื่อเรา"

(สำหรับท่านที่เข้ามาอ่านแล้วไม่เห็นภาพว่า กิจกรรมมันจะช่วยให้เด็กเป็นอย่างที่ว่าได้ยังไง ลองไปอ่านตอน เยี่ยมค่ายอาสาฯ ก็ได้ครับ)
...
ท่านพ่อ แม่ ผู้ปกครองครับ นักศึกษาใหม่ครับ ลองหากิจกรรมเหมาะ ๆ สักกิจกรรม เข้าไปเป็นสมาชิกของชุมนุม หรือชมรมใดสักชมรมหนึ่ง เอาที่เป็นชุมนุมหรือชมรมที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างถูกต้อง มีฝ่ายกิจการนักศึกษาเป็นผู้ดูแล แค่นี้ ท่านก็อาจจะหลุดพ้นจากวังวนของเด็กไทยพันธุ์ใหม่ที่มีชีวิตอยู่ไปวันวันได้
...
สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็น ไม่เท่ามือคลำ สิบมือคลำ ไม่เท่าทำเองครับ



จากคุณ : บุรินทร์ .
10:10am (18/01/07)
ทความเกี่ยวกับไอทีในชีวิตประจำวัน (Information Technology in Life) ถูกเขียนลงในหนังสือพิมพ์ฅนเมืองเหนือ เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ เริ่มเขียนปลายปีพ.ศ. 2549 จนถึงมิถุนายน พ.ศ.2560 รวมได้ 611 บทความมีโฮมเพจอยู่ที่ http://www.thaiall.com/itinlife และ http://www.thaiall.com/opinion เพื่อเป็นแหล่งแบ่งปันเรื่องราวที่ได้พบ ได้อ่าน ได้ปฏิบัติ แล้วนำมาเรียบเรียงแบ่งปันแก่เพื่อนชาวไทย และส่งให้กองบรรณาธิการนำไปตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดลำปาง
Opinion แปลว่า ความคิดเห็น วาทะ ความเชื่อ ที่สามารถสะท้อนออกมาให้อยู่ในรูปของวรรณกรรม หรืองานเขียน ที่เรื่องราวจะถูกร้อยเรียงเป็นตัวอักษร ไล่เรียงตามลำดับให้ได้รู้และเข้าใจความคิดความเห็น ที่ไม่เลือนหายไปตามเวลาเหมือนความทรงจำ
version 1.3 (15 ตุลาคม 2566)
Thaiall.com
Thaiall.com