thaiall logomy background

กระดานแสดงความคิดเห็น

my town

ประเทศไทยมีศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คอยช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาเกี่ยวกับสาธารณภัย อาทิ ภัยทางถนน วาตภัย ลูกเห็บ ฟ้าผ่า ภัยหนาว อุทกภัย ไฟป่า เป็นต้น จากตัวอย่างที่ประเทศของเรามีศูนย์ที่มีจิตสำนักสาธารณะคอยช่วยเหลือผู้มีภัย ในทำนองเดียวกันประเทศของเราน่าจะมีศูนย์แบบนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางคอมพิวเตอร์ เช่น นักพัฒนาซอฟท์แวร์ที่แก้ปัญหาไม่ได้ ครูคอมพิวเตอร์มือใหม่ที่มืดแปดด้าน พนักงานบริษัทที่มีปัญหาด้านซอฟท์แวร์ หรือนักเรียนที่ต้องการคำตอบโดยด่วน หากจะหวังพึ่งวิทยากรที่รับจ้างสอนตามศูนย์อบรมคงไม่สะดวก เพราะพวกเขามีเหตุผลที่ต้องกั๊กความรู้ และไม่มีเวลาให้กับงานการกุศล เคยมีปราชญ์ท่านหนึ่งกล่าวว่าถ้าจ่ายชั่วโมงละ 500 บาทก็บรรยายอย่างเดียว จ่าย 1000 บาทจะมีสไลด์สีสวย จ่าย 1500 บาทจะมีพาวเวอร์พอยท์ แสดงว่าคุณภาพการสอนขึ้นอยู่กับค่าตอบแทน และนี่เป็นสัจธรรมในยุคทุนนิยมของคนที่คิดเป็น ทำเป็น

แม้จะมีบริษัทมากมายอาสาให้ความช่วยเหลือ รับพัฒนาระบบ รับให้คำปรึกษาที่เรียกว่าเอาท์ซอร์ท (Out Source) แต่ก็เป็นการให้ความช่วยเหลือเชิงพาณิชย์ และต้องมีการตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นอันดับแรก ทุกปัญหาเริ่มต้นด้วยการเจรจาเรื่องค่าตอบแทน และขอบเขตของปัญหา แม้บางปัญหาจะแก้ได้ด้วยการตอบคำถามในเวลาเพียง 10 นาที บางปัญหาต้องรีโหมดเข้าไปช่วยแก้ปัญหาในเครื่องบริการถึง 1 ชั่วโมง บางปัญหาบริษัทอาจทำไม่ได้ และในบางกรณีบริษัทอาจทิ้งงานไปเลยก็มี แม้มีเว็บบอร์ดมากมายในอินเทอร์เน็ต แต่ก็ไม่มีการรับประกันว่าจะมีใครมาตอบคำถาม ตอบได้ละเอียด หรือแก้ปัญหาได้ตรงจุด เพราะผู้ตั้งคำถามก็อาจยังไม่เข้าใจปัญหาด้วยซ้ำ

ศูนย์แก้ปัญหานี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาด้านการศึกษาของไทย การให้ความรู้ได้ในยามที่มีคนต้องการที่พึ่ง รับตอบข้อซักถามในฐานะครูผู้เห็นทุกคนในโลกเป็นลูกศิษย์ อาจเริ่มจากการตอบคำถามทางโทรศัพท์ ตอบทางอีเมล ตอบทางเว็บบอร์ด ในกรณีที่มีขั้นตอนการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนก็ต้องสร้างเว็บเพจเสริมการอธิบายให้สมบูรณ์ หรือพัฒนาชุดเว็บเพจแบบมัลติมีเดียให้ถูกสืบค้นอย่างเป็นระบบได้ง่าย จัดทีมอาสาสมัครจัดการอบรมในหลายระดับเพื่อสร้างผู้สืบทอดแนวคิด แต่การตั้งศูนย์ต้องทำด้วยใจรักด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือ มีทีมที่มีอุดมการณ์ และขวนขวายที่จะเข้าถึงคนทุกกลุ่มเชิงรุก เพื่อร่วมกันผลักดันการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ และนำพาประเทศให้ก้าวหน้าทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้าน แม้หลายคนจะคิดว่าเรื่องนี้เป็นเพียงความฝัน แต่ผู้เขียนคิดว่าแค่ได้ฝันก็ถือว่ายอดแล้ว และจะยอดกว่านี้ถ้าเริ่มมีคนทำฝันนั้นให้เป็นจริง


จากคุณ : บุรินทร์ .
09:36am (28/01/08)
ทความเกี่ยวกับไอทีในชีวิตประจำวัน (Information Technology in Life) ถูกเขียนลงในหนังสือพิมพ์ฅนเมืองเหนือ เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ เริ่มเขียนปลายปีพ.ศ. 2549 จนถึงมิถุนายน พ.ศ.2560 รวมได้ 611 บทความมีโฮมเพจอยู่ที่ http://www.thaiall.com/itinlife และ http://www.thaiall.com/opinion เพื่อเป็นแหล่งแบ่งปันเรื่องราวที่ได้พบ ได้อ่าน ได้ปฏิบัติ แล้วนำมาเรียบเรียงแบ่งปันแก่เพื่อนชาวไทย และส่งให้กองบรรณาธิการนำไปตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดลำปาง
Opinion แปลว่า ความคิดเห็น วาทะ ความเชื่อ ที่สามารถสะท้อนออกมาให้อยู่ในรูปของวรรณกรรม หรืองานเขียน ที่เรื่องราวจะถูกร้อยเรียงเป็นตัวอักษร ไล่เรียงตามลำดับให้ได้รู้และเข้าใจความคิดความเห็น ที่ไม่เลือนหายไปตามเวลาเหมือนความทรงจำ
version 1.3 (15 ตุลาคม 2566)
Thaiall.com
Thaiall.com