เตรียมพร้อมรับ Windows 2000

สุวิทย์ สมสุภาพรุ่งยศ ส่งบทความนี้มาให้ผมอีกทีหนึ่ง
ผู้เขียนบทความนี้ท่านหนึ่ง : ณัฐพงษ์ พรคงเจริญ


บทนำ
ถึงแม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่ จะยังไม่เคยทดลองใช้งานวินโดวส์ 2000 ด้วยตนเอง แต่จากข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ ทั้งจากทางเว็บไซต์ของไมโครซอฟท์เอง หรือจากนิตยสารต่างๆ (ซึ่งทางวินโดวส์แมกะซีนได้มีการนำเสนออยู่อย่างต่อเนื่อง) คงเพียงพอต่อการยืนยันความยอดเยี่ยมได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการที่ระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ได้เข้ามาอยู่ในใจของผู้ใช้มาเป็นเวลานาน จนแทบจะกลายเป็นประเพณีปฏิบัติที่จะต้องมีการเปลี่ยนระบบปฏิบัติการ เมื่อไมโครซอฟท์ออกระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่มา จึงไม่น่าแปลกแต่อย่างไร ถ้าคุณและองค์กรของคุณคิด และรวมไปถึงวางแผนที่จะเปลี่ยนระบบปฏิบัติการมาใช้วินโดวส์ 2000 นับตั้งแต่วันนี้

แต่ทว่าการเปลี่ยนระบบปฏิบัติการนั้น ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เหมือนการที่คุณเปลี่ยนแอปพลิเคชัน เพราะมันเหมือนเป็นการยกระบบใหม่ทั้งหมด ดังนั้นจึงน่าจะเป็นการดี สำหรับใครก็ตามที่คิดจะเปลี่ยนระบบปฏิบัติการมาใช้วินโดวส์ 2000 (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการเปลี่ยนระบบปฏิบัติการขององค์กร) ที่จะตรวจดูความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่า การอัพเกรดหรือการเปลี่ยนมาใช้วินโดวส์ 2000 จะไม่มีปัญหา หรือมีปัญหาน้อยที่สุด ซึ่งนั่นคือประเด็นหลักที่เราจะนำเสนอคุณในบทความนี้

อย่างไรก็ดี ถึงแม้การตรวจสอบตามวิธีที่เราจะนำเสนอในลำดับต่อไป จะช่วยให้คุณมั่นใจในการอัพเกรดได้ในระดับหนึ่งก็ตาม แต่คงจะเป็นการดีกว่า ถ้าคุณจะนำวินโดวส์ 2000 เบต้าเวอร์ชัน มาทดลองติดตั้งและใช้งานจริงดูก่อน (วิธีการหาเบต้าล่าสุดของวินโดวส์ 2000 มาทดลองใช้ จะมีแจ้งอยู่ในกรอบวินโดวส์ 2000 เบต้าเวอร์ชัน)

เวอร์ชันของวินโดวส์ 2000
วินโดวส์ 2000 จะมีด้วยกันหลายเวอร์ชัน อันได้แก่ วินโดวส์ 2000 Professional, วินโดวส์ 2000 เซิร์ฟเวอร์, วินโดวส์ 2000 แอดวานซ์เซอร์เวอร์ และวินโดวส์ 2000 Datacenter ซึ่งแต่ละเวอร์ชันก็จะเหมาะกับงานแต่ละชนิด โดยวินโดวส์ 2000 Professional จะเป็นเวอร์ชันสำหรับผู้ใช้ที่เคยใช้วินโดวส์ 95, 98 หรือเอ็นที 4.0 มาก่อน

ถ้าพีซีที่คุณใช้อยู่ เป็นพีซีที่ใช้ในงานของเซิร์ฟเวอร์ทั่วไป (ในแบบของเอ็นที 4.0 เซิร์ฟเวอร์) เวอร์ชันของวินโดวส์ 2000 ที่เหมาะสมกับพีซีในลักษณะนี้คือ วินโดวส์ 2000 เซิร์ฟเวอร์ แต่ถ้าเน็ตเวิร์กมีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง การเปลี่ยนไปใช้วินโดวส์ 2000 แอดวานซ์เซิร์ฟเวอร์ ดูน่าจะเป็นการเหมาะกว่า ในขณะที่วินโดวส์ 2000 Datacenter Server จะใช้ในการจัดการกับฐานข้อมูลขนาดยักษ์ อย่างเช่น ISP หรือโครงการจำลองงานทางด้านวิทยาศาสตร์/วิศวกรรมขนาดใหญ่ เป็นต้น

นอกเหนือจากความเหมาะสมในการจัดการกับงานที่ต่างกันแล้ว การจำแนกเวอร์ชันต่างๆ ของวินโดวส์ 2000 ยังสอดคล้องกับระบบปฏิบัติเดิมที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบันของไมโครซอฟท์อีกด้วย โดยถ้าระบบปฏิบัติการเดิมที่คุณใช้อยู่คือวินโดวส์เอ็นที 4.0 เซิร์ฟเวอร์ เวอร์ชันของวินโดวส์ 2000 ที่เหมาะสมสำหรับการอัพเกรดของคุณก็คือวินโดวส์ 2000 เซิร์ฟเวอร์ ในขณะที่วินโดวส์ 2000 Professional น่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการอัพเกรดจากวินโดวส์ 9x และเอ็นทีเวิร์กสเตชัน

จากการทดสอบพบว่า การอัพเกรดวินโดวส์ 2000 จะเกิดปัญหาขึ้นบ้าง ถ้าเป็นการอัพเกรดจากวินโดวส์ 9x หรือวินโดวส์ 3.x (ไปเป็นวินโดวส์ 2000 Pro) แต่ถ้าเป็นการอัพเกรดจากวินโดวส์เอ็นทีเวิร์กสเตชัน (ไปเป็นวินโดวส์ 2000 Pro เช่นกัน) แล้ว ปัญหาจะมีน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย ทั้งนี้เป็นเพราะวินโดวส์ 2000 จะใช้ระบบจัดการไฟล์ โครงสร้างและรูปแบบของรีจิสตรี้ โครงสร้างของโฟลเดอร์ เคอร์เนล และดีไวซ์ไดรเวอร์โมดูล ในแบบเดียวกันกับวินโดวส์เอ็นทีเวิร์กสเตชัน

ด้วยเหตุนี้ ทางไมโครซอฟท์จึงแนะนำให้ผู้ใช้วินโดวส์ 9x และ 3.x อัพเกรดระบบปฏิบัติการของตนไปเป็นวินโดวส์เอ็นที 4.0 เสียก่อน แล้วจึงค่อยอัพเกรดมาเป็นวินโดวส์ 2000 Professional อีกที แต่ในความเป็นจริง และในทางปฏิบัติแล้ว คงเป็นไปได้ยาก เพราะองค์กรทั่วไปโดยส่วนใหญ่ จะมีพีซีที่ใช้วินโดวส์ 9x และ 3.x เป็นสัดส่วนที่มากกว่าพีซีที่ใช้วินโดวส์เอ็นทีเวิร์กสเตชันอยู่หลายเท่าตัว ถ้าจะต้องทำการอัพเกรดพีซีเกือบทั้งหมดในองค์กรถึง 2 หน คงจะเป็นการเพิ่มความวุ่นวายให้มากกว่าเข้าไปอีก

(รายงานล่าสุดจากเรดมอนด์ก็คือ การอัพเกรดจากวินโดวส์ 98 จะทำได้ง่ายและไม่มีปัญหาอีกแล้ว และจากการทดสอบเบต้าล่าสุดพบว่าการอัพเกรดทำได้เรียบร้อยดี และสามารถทำเป็นมัลติบูตโอเอสได้อย่างง่ายๆ อีกด้วย)



ตรวจเช็คความพร้อมทางฮาร์ดแวร์
คุณสมบัติอย่างต่ำของพีซีในการใช้งานวินโดวส์ 2000 ตามที่ทางไมโครซอฟท์ได้ประกาศออกมาคือ เพนเทียมทู 300 เมกะเฮิรตซ์ และมีหน่วยความจำ 64 เมกะไบต์เป็นอย่างต่ำ แต่ถ้าเป็นไปได้ คุณน่าจะมีหน่วยความจำอย่างน้อย 128 เมกะไบต์ เพราะราคาของหน่วยความจำในขณะนี้ไม่แพงมากเหมือนเมื่อก่อน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับระบบอีกด้วย

หลังจากที่ตรวจสอบแล้วว่า พีซีของคุณมีประสิทธิภาพเพียงพอ หรือสูงกว่าความต้องการที่ไมโครซอฟท์กำหนด อันดับต่อไปที่คุณควรทำก็คือ สำรวจดูชื่อรุ่นของพีซี (สำหรับพีซีที่มียี่ห้อ อย่างเช่น Compaq หรือ Dell) หรืออุปกรณ์ทั้งหลายที่ประกอบอยู่ในพีซีของคุณ (สำหรับพีซีที่ไม่มียี่ห้อ) ว่าคอมแพตทิเบิ้ลกับวินโดวส์ 2000 หรือไม่ โดยคุณสามารถตรวจสอบดูรายชื่อของอุปกรณ์ที่คอมแพตทิเบิ้ลกับวินโดวส์ 2000 ได้จากใน Hardware Compatibility List ซึ่งจะมีอยู่ในแผ่นซีดีของวินโดวส์ 2000 หรือไม่ก็ตรวจสอบจากเว็บไซต์ของไมโครซอฟท์ซึ่งคาดว่าน่าจะมีติดไว้ในไม่ช้านี้ (หรืออย่างช้าที่สุดก็คงเป็นตอนที่วินโดวส์ 2000 ออกวางจำหน่าย)

อีกวิธีหนึ่งในการตรวจสอบอุปกรณ์ทั้งหลาย (สำหรับพีซีที่ไม่มียี่ห้อ) ว่าคอมแพตทิเบิ้ลกับวินโดวส์ 2000 หรือไม่ นั่นคือการตรวจดูจากไดรเวอร์ ลองตรวจเช็กไดรเวอร์ของการ์ดแสดงผล, การ์ด SCSI, สแกนเนอร์, การ์ดเสียง, ซีดีรอมไดรฟ์, CD-R, CD-RW และ DVD ที่มีอยู่ในระบบของคุณ ถ้าอุปกรณ์เหล่านี้มีไดรเวอร์สำหรับเอ็นที 4.0 อยู่ด้วยแล้วละก็ คุณก็สามารถมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า อุปกรณ์นั่นน่าจะใช้ได้กับวินโดวส์ 2000 แต่อย่างไรก็ดี ผลที่ได้จากการตรวจสอบอย่างง่ายๆ นี้ คงไม่สามารถใช้ยืนยันได้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะใช้งานกับวินโดวส์ 2000 ได้จริง 100 เปอร์เซ็นต์ (ในส่วนของเมนบอร์ด ให้ตรวจดูว่า BIOS สามารถอัพเดตได้ และสนับสนุน ACPI หรือไม่)

แต่ถ้าคุณคิดจะซื้อพีซีเครื่องใหม่เพื่อนำมาใช้กับวินโดวส์ 2000 โดยเฉพาะ ลองมองหาสัญลักษณ์ "Windows 2000 Ready PC" ซึ่งเป็นเครื่องหมายยืนยันว่า พีซีเครื่องนั้นสามารถทำงานกับวินโดวส์ 2000 ได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยในขณะนี้ บริษัทผู้ผลิตพีซีชั้นนำอย่าง Compaq, Dell, Micron และอื่นๆ ได้เริ่มผลิตพีซีสำหรับการทำงานกับวินโดวส์ 2000 กันแล้ว และต่างก็หันมาใช้สัญลักษณ์ "Windows 2000 Ready PC" กับพีซีของตน รวมถึงยังใช้สัญลักษณ์นี้กับพีซีรุ่นที่ผลิตออกวางจำหน่ายแล้ว (แต่อุปกรณ์ทั้งหมดสนับสนุนการทำงานกับวินโดวส์ 2000) เช่นกัน และจากผลการทดสอบของเรา พบว่าพีซีทุกเครื่องที่มีสัญลักษณ์ "Windows 2000 Ready PC" (รวมไปถึงพีซีรุ่นที่ BIOS สามารถอัพเดตได้) จะสามารถอัพเกรดมาใช้วินโดวส์ 2000 ได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ แม้แต่เครื่องเดียว



เตรียมความพร้อมทางซอฟต์แวร์
ในส่วนของการตรวจสอบความคอมแพตทิเบิ้ลทางด้านซอฟต์แวร์นั้น คงไม่มีวิธีไหนจะดีไปกว่าการทดลองใช้ซอฟต์แวร์เหล่านั้นกับเบต้าเวอร์ชันของวินโดวส์ 2000 และถ้าจะให้ได้ผลที่แน่นอน คุณควรติดตั้งแอปพลิเคชันที่คุณต้องการทดสอบใหม่ ไม่ใช่อัพเกรดมาจากระบบปฏิบัติการเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าระบบของคุณใช้วินโดวส์ 95 หรือ 98 ทั้งนี้เป็นเพราะ (จากการทดสอบ) เราพบว่า การดึงรีจิสทรีของแอปพลิเคชันทั้งหมดจากวินโดวส์ 9x เพื่อนำไปใช้ในวินโดวส์ 2000 ยังไม่มีความแน่นอนมากเพียงพอ (ไม่ได้ดีไปกว่าการทำงานในส่วนนี้ของเอ็นทีสักเท่าไร)

ในการทดสอบแอปพลิเคชันใดๆ เราแนะนำให้คุณเริ่มตั้งแต่การติดตั้งใหม่ และดูผลจากการติดตั้งว่าเป็นไปด้วยความราบรื่นตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ถ้าผ่านไปได้ด้วยดี อันดับต่อไปให้คุณลองเรียกโปรแกรมขึ้นมา และใช้งานในแบบที่คุณเคยทำอยู่เป็นประจำ หรือถ้านึกไม่ออกว่าจะสั่งให้โปรแกรมทำอะไร ก็ลองการทำงานพื้นฐานทั่วไป อย่างเช่น การสั่งให้พิมพ์, เซฟ, โหลด, copy, paste, ปรับแต่งแถบเครื่องมือ, สั่งการทำงานโดยอาศัยฮอตคีย์ หรืออื่นๆ แล้วตรวจสอบดูว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ ถ้าทุกอย่างเป็นไปโดยปกติ คุณก็มั่นใจได้เลยว่า ซอฟต์แวร์ตัวนั้นสามารถใช้งานกับวินโดวส์ 2000 ได้เป็นอย่างดี

จากการทดสอบของเราพบว่า โดยส่วนใหญ่ของโปรแกรมที่เพิ่งออกวางขายได้ไม่นาน จะสามารถทำงานบนวินโดวส์ 2000 ได้ และก็อย่างที่หลายๆ คนคาดไว้ นั่นคือโปรแกรมซึ่งเขียนเพื่อทำงานบนวินโดวส์เอ็นทีทั้งหมด จะสามารถทำงานบนวินโดวส์ 2000 ได้เป็นอย่างดี

และเพื่อช่วยคุณลดปัญหาทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ วินโดวส์ 2000 ได้เพิ่มการทำงานในโหมด Upgrade Check-Only เข้ามาในระหว่างขั้นตอนของการติดตั้ง โดยมันจะตรวจสอบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในระบบของคุณ ก่อนที่จะนำมาเปรียบเทียบว่าน่าจะมีปัญหาอะไรที่เกิดขึ้นได้บ้าง พร้อมทั้งรายงานให้คุณทราบ รวมถึงมันจะหยุดการทำงานในทันทีที่มันไม่พบไดรเวอร์ของอุปกรณ์สำคัญๆ ในระบบของคุณ อันจะนำมาซึ่งการติดตั้งไม่เป็นผลสำเร็จ

อย่างไรก็ดี เราพบว่าการทำงานในโหมด Upgrade Check-Only ยังไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์เสียทีเดียว เพราะมันยังมีข้อผิดพลาดอยู่บ้างในบางจุด เช่นว่าต้องการไดรเวอร์ของอุปกรณ์คนละชนิดกับอุปกรณ์ที่มีอยู่ในระบบของคุณ หรือบางทีก็ร้องเรียกหาไดรเวอร์ซึ่งมีอยู่แล้ว แต่มันหาไม่พบเองเหล่านี้เป็นต้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม การทำงานในขั้นตอนของ Upgrade Check-Only ก็ยังมีส่วนดีมากกว่าส่วนเสีย และเป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับคุณที่คิดจะเตรียมความพร้อมรับวินโดวส์ 2000

รายงานล่าสุด Windows 2000 ส่งตรงจากทีมงานวินแม็ก งาน : Windows 2000 workshop สถานที่ : โรงแรม Double tree, Bellevue รัฐ Seattle สหรัฐอเมริกา จำนวนผู้เข้าร่วม : 200 คนจากกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ตัวแทนจากประเทศไทย : Windows Magazine (Thailand) วันที่ : 13-17 เมษายน 2542 รายงานโดย : ณัฐพงษ์ พรคงเจริญ

หลังจากทางไมโครซอฟท์ได้เชื้อเชิญทีมงานนิตยสารวินโดวส์ แมกาซีน ให้เป็นตัวแทนของสื่อมวลชนไทย ในการเข้าร่วมงาน Windows 2000 Workshop ซึ่งเป็นการเปิดเผยระบบปฏิบัติการตัวเบต้าล่าสุดของวินโดวส์ 2000 ที่มีผู้เข้าร่วมจากประเทศต่างๆ ทั้งโซนยุโรปและโซนเอเชียกว่า 200 คน โดยเนื้อหาในงานนี้ทั้งหมดทางไมโครซอฟท์ถือว่าเป็นความลับ ห้ามทีมนิตยสารทุกฉบับตีพิมพ์ก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม และนอกจากนั้นยังห้ามการถ่ายภาพในงานด้วย ผมรู้สึกเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถเก็บบรรยากาศในห้องประชุมมาให้ทุกท่านได้เห็น แต่ก็จะพยายามเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับวินโดวส์ 2000 เท่าที่จำได้ให้ทราบกันนะครับ

ไมโครซอฟท์ใช้เวลาในการแนะนำ และเดโมวินโดวส์ 2000 ให้ดูเป็นเวลา 2 วันเต็มๆ งานครั้งนี้จึงถือว่าเป็นความคุ้มค่าอย่างยิ่งที่วินแม็กได้ไปร่วมงาน และได้ไปเห็นคุณสมบัติหลายๆ อย่างของโอเอสตัวใหม่นี้มารายงานให้ทุกท่านได้ทราบก่อนใคร จะว่าไปแล้วทางเราเองก็ได้รายงานคุณสมบัติส่วนใหญ่ของมันในเล่มก่อนๆ หน้านี้ไปมากแล้วก็จริงอยู่ แต่คุณสมบัติที่เรายังคงสงสัยกันก็คือ คุณสมบัติการทำงานกับภาษาไทยของวินโดวส์ 2000 นี้จะเป็นอย่างไรและจะสามารถใช้จริงได้หรือไม่ ผมได้คำตอบในเรื่องนี้ตั้งแต่วันแรกของงานเลยทีเดียว

ในการประชุมวันแรก ในช่วงหนึ่งเป็นการพรีเซนต์ระบบ World Wide Binary ของวินโดวส์ 2000 ที่มีโค้ดภาษาไทยและฟอนต์ภาษาไทยตั้งแต่เกิด นั่นหมายถึงคุณจะได้เล่นวินโดวส์ 2000 ทันทีที่มีการวางจำหน่ายวินโดวส์ 2000 ในงานครั้งนี้ทางไมโครซอฟท์ได้เดโมการใช้ Locale ภาษาญี่ปุ่น จีน อาราบิก (เสียดายไม่ได้โชว์ภาษาไทย) โดยวินโดวส์ 2000 สามารถคีย์ภาษาทั้งหมดได้พร้อมๆ กันในเอกสารชุดเดียวกัน ถือว่าเป็นระบบในฝันของบริษัทที่ต้องทำงานกับคนหลายๆ ชาติจริงๆ แต่ในข่าวดีก็ยังมีข้อสงสัยอยู่ครับ เพราะการเดโมครั้งนี้ ทางไมโครซอฟท์แจ้งว่าในส่วนของเซตอัพและคุณสมบัติบางอย่างยังคงต้องการการ Localize อยู่ มันแสดงให้เห็นว่า คุณสามารถใช้ภาษาไทยได้ก็จริง แต่ยังคงต้องมีการเขียนโค้ดเพิ่มเติมให้สามารถตัดคำ และเขียนเพิ่มเติมให้โปรแกรมเซตอัพเป็นภาษาไทย ฯลฯ

ทั้งนี้หลังจากที่สอบถามแล้ว เจ้าหน้าที่ไมโครซอฟท์ก็ให้ข้อมูลว่า การทำให้เป็นภาษาไทยจะเป็นได้ในระดับ Enable เท่านั้น นั่นคือ ผู้ใช้สามารถใช้ภาษาไทย อ่านภาษาไทยในเอกสาร ดูเว็บเพจที่เป็นภาษาไทยได้ แต่สำหรับในโปรแกรมเวิร์ดและโปรแกรมจัดหน้า ยังคงต้องอาศัยการใส่แพตช์หรือ Localize เพื่อความสวยงามในการตัดคำและการพิมพ์ ทั้งนี้หลังจากที่ผมได้ทดลองติดตั้ง Office 2000 Thai (Beta) ก็พบว่าการทำงานบนวินโดวส์ 2000 ทำได้ราบรื่นดี ระบบการตัดคำก็เรียบร้อยและลงตัว (ฉบับหน้าจะมารายงานผลจากการทดสอบกับออฟฟิศ 97 และ โปรแกรมกราฟิกอื่นๆ) ข้อดีของระบบนี้ก็คือ ถ้าซอฟต์แวร์ตัวใดสนับสนุนการทำงานในระบบภาษาแบบ World Wide Binary บนวินโดวส์ 2000 คุณก็สามารถใช้ฟอนต์ภาษาไทยกับซอฟต์แวร์ตัวนั้นได้ทันที (สระอาจลอยและตัดคำไม่สวย แต่ก็ใช้ได้)

คุณสมบัติอีกหลายอย่างที่ได้รับข้อมูลมาก็น่าสนใจมาก เช่น Active Directory ระบบไดเรกทอรีที่ช่วยให้การจัดฮาร์ดแวร์และผังองค์กรทำได้ง่ายขึ้น คุณสมบัติ Plug and PLay ที่รองรับฮาร์ดแวร์ได้มากมายหลายพันรายการ คุณสมบัติการสนับสนุนโน้ตบุ๊ก การใช้ร่วมกับเมนบอร์ดแบบ ACPI การทำงานบนระบบเน็ตเวิร์ก สนับสนุนอินเทอร์เน็ต ซอฟต์แวร์ IIS 5.0 และยังมีซอฟต์แวร์ที่มาเอาอกเอาใจ แอดมินอีกเพียบ รายละเอียดทั้งหมด ผมขอยกยอดไปเล่าให้ฟังในฉบับหน้า เพราะข้อมูลมากจนพื้นที่ฉบับนี้ไม่พอแน่นอน เอาเป็นว่าจะขอไปรีวิวเบต้าล่าสุดที่ไมโครซอฟท์ให้มาเป็นที่ระลึกจากอเมริกาในเล่มหน้าแบบเต็มๆ ให้เห็นหน้าตากันจะๆ ไปเลยดีกว่า

อย่างไรฉบับนี้ลองชมภาพ ไมโครซอฟท์ แคมปัส อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของไมโครซอฟท์ ในเรดมอนด์ ซึ่งผมได้มีโอกาสไปเก็บภาพมาฝาก (ยอมรับครับว่ากว้างและร่มรื่นมากจริงๆ) ก็ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ของไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ที่น่ารักทั้งสองท่าน (คุณปัทมาและคุณพัลลภ) ที่อำนวยความสะดวกให้กับผมตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่นั่น ขอบคุณมากครับ



ติดตั้งแอปพลิเคชันบนวินโดวส์ 2000
ปัญหาหนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้นสำหรับองค์กรที่ใช้วินโดวส์ 95 หรือ 98 เป็นส่วนใหญ่ หลังจากการอัพเกรดมาใช้วินโดวส์ 2000 แล้วคือ การติดตั้งแอปพลิเคชันเดิมที่เคยใช้ลงไปในระบบปฏิบัติการตัวใหม่ ซึ่งเรามีวิธีมาให้คุณเลือกได้ 3 วิธี

วิธีแรกคือการ uninstall แอปพลิเคชันออกก่อน แล้วจึงติดตั้งแอปพลิเคชันนั้นลงไปใหม่ วิธีนี้อาจไม่เหมาะกับองค์กรขนาดใหญ่ และใช้แอปพลิเคชันหลายตัวในการทำงาน เพราะจะสิ้นเปลืองทั้งเงินทองและเวลา แต่ข้อดีของการติดตั้งในแบบนี้คือ แอปพลิเคชันได้ติดตั้งลงบนระบบของวินโดวส์ 2000 อย่างสมบูรณ์

วิธีที่สองคือสร้าง "โมเดล" มาตรฐาน ซึ่งก็คือวินโดวส์ 2000 ที่ติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ ตามที่คุณต้องการไว้แล้ว และใช้ System Preparation (SysPrep, มีรวมอยู่ในเบต้าเวอร์ชันของวินโดวส์ 2000) สร้างเป็นอิมเมจขึ้นมา แล้วจึงนำอิมเมจไปใช้ในการติดตั้งเครื่องอื่นๆ ต่อไป

วิธีที่สามคือ การใช้ Migrate DLL ซึ่งก็คือไฟล์ DLL ของแอปพลิเคชันที่ผู้ผลิตเขียนขึ้นสำหรับการใช้กับระบบปฏิบัติการที่ต่างๆ กัน ถ้าเป็นวิธีนี้ คุณเพียงย้ายแอปพลิเคชันของระบบบปฏิบัติการเดิม (วินโดวส์ 9x) มาไว้ในไดเร็กทอรี่ที่ถูกต้อง (ไดเร็กทอรีเดียวกับที่ตั้งไว้ในวินโดวส์ 9x) ย้ายรีจิสตรี้ แล้วก็อปปี้ไฟล์ DLL ของแอปพลิเคชันนั้นที่เขียนสำหรับใช้กับวินโดวส์ 2000 ไปทับไฟล์ DLL ที่มีอยู่เดิม ก็เป็นอันเสร็จ ปัญหาเดียวที่จะกีดขวางการติดตั้งแอปพลิเคชันด้วยวิธีนี้ก็คือ ทางผู้ผลิตแอปพลิเคชันที่คุณใช้ จะมีไฟล์ DLL สำหรับวินโดวส์ 2000 ให้หรือเปล่าเท่านั้น

สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ ไมโครซอฟท์แนะนำให้ใช้ System Management Server (SMS) 2.0 ในการจัดการติดตั้งแอปพลิเคชัน เพราะจะสะดวกและประหยัดเวลากว่า แต่คุณต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 1,129 ดอลล่าห์(46,000 บาท)สำหรับเวอร์ชัน 10 ไคลเอ็นต์ ถึงแม้ว่าเงินจะไม่มีปัญหาสำหรับองค์กรของคุณ แต่อย่าลืมว่า ด้วยวิธีนี้นอกจากคุณจะต้องทำความคุ้นเคยกับระบบปฏิบัติการใหม่อย่างวินโดวส์ 2000 Professional และวินโดวส์ 2000 เซิร์ฟเวอร์แล้วคุณยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการเรียนรู้ SMS ด้วย



เรื่องของระบบจัดการไฟล์
ถ้าคุณอยากรู้ว่าพีซีของคุณใช้ระบบจัดการไฟล์แบบใด ให้คุณดูระบบปฏิบัติการที่ใช้อยู่ ถ้าเป็นพีซีที่ซื้อก่อนกลางปี 1997 โดยส่วนใหญ่จะใช้วินโดวส์ 3.x หรือไม่ก็วินโดวส์ 95 เวอร์ชันแรก ซึ่งฟอร์แมตของฮาร์ดดิสก์จะเป็น FAT 16 แต่ถ้าเป็นพีซีที่ใช้วินโดวส์ 95 เวอร์ชันหลัง และวินโดวส์ 98 ฟอร์แมตของฮาร์ดดิสก์จะเป็น FAT 32

ข้อแตกต่างระหว่าง FAT 16 และ FAT 32 นอกเหนือไปจากขนาดของคลัสเตอร์ที่เล็กใหญ่ผิดกันแล้ว FAT 32 จะยอมให้คุณแบ่งพาร์ทิชันของฮาร์ดดิสก์ได้ถึง 8 กิกะไบต์ (ต่อหนึ่งพาร์ทิชัน ถ้าไม่เป็นเพราะมีบั๊ก จะแบ่งได้มากกว่านี้) ในขณะที่พาร์ทิชันขนาดใหญ่ที่สุดที่คุณสามารถแบ่งได้โดยใช้ FAT 16 คือ 2 กิกะไบต์เท่านั้น แต่ความแตกต่างระหว่าง FAT 16 และ FAT 32 จะไม่มีผลใดๆ ถ้าเป็นเรื่องของการอัพเกรดมาใช้วินโดวส์ 2000 เพราะไม่ว่าฮาร์ดดิสก์ของคุณจะใช้ FAT แบบใดก็ตาม คุณก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ระบบจัดการไฟล์ของเอ็นที (NTFS) ได้เหมือนกัน

NTFS จะมีอัตราในการแอกเซสข้อมูลในฮาร์ดดิสก์สูงกว่า FAT และตอบสนองได้ดีกว่า และคุณสามารถเปลี่ยนมาใช้ระบบจัดไฟล์แบบนี้ได้โดยง่ายในระหว่างขั้นตอนการติดตั้งของวินโดวส์ 2000 (จะมีออปชันให้คุณเลือกว่าต้องการเปลี่ยนมาใช้ NTFS 5.0 หรือไม่?) แต่ก่อนที่จะตัดสินใจอะไรลงไป ขอให้คุณไตร่ตรองดูให้ดีก่อน เพราะถึงแม้การเปลี่ยนจาก FAT ไปเป็น NTFS 5.0 จะทำได้โดยง่าย แต่การที่จะเปลี่ยนกลับจาก NTFS 5.0 มาเป็น FAT เหมือนเดิมนั้น จำเป็นต้องฟอร์แมตฮาร์ดดิสก์ใหม่ หรือไม่ก็แบ่งพาร์ทิชันฮาร์ดดิสก์ใหม่ไปเลย

นอกจากนี้ บรรดายูทิลิตี้ในการจัดการดิสก์ทั้งหลายที่คุณมีอยู่ ก็จะไม่สามารถใช้งานได้ ยกเว้นว่ายูทิลิตี้นั้นออกแบบมาสำหรับการทำงานกับเอ็นที 4.0 (ซึ่งใช้ NTFS 4.0) และเป็นที่แน่นอนว่า ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสทั้งหลายก็จะทำงานไม่ได้เช่นกัน เพราะการทำงานของโปรแกรมแอนตี้ไวรัสจะต้องใช้การตรวจเช็คกับขนาดของไฟล์ในฮาร์ดดิสก์เป็นหลัก



คุณสมบัติใหม่ที่คุณควรรู้
วินโดวส์ 2000 Professional จะมีคุณสมบัติเกี่ยวกับการควบคุมเดสทอปเฟิ่มขึ้นอีกหลายคุณสมบัติ โดยบางคุณสมบัติจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อใช้กับวินโดวส์ 2000 Server และหนึ่งในคุณสมบัติที่ว่านี้ก็คือ Active Directory (AD) ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นตัวหนึ่งในบรรดาคุณสมบัติทั้งหมดที่มีในวินโดวส์ 2000

จากเดิมในเอ็นที 4.0 จะแยกการจัดเก็บฐานข้อมูลของผู้ใช้กับข้อมูลในส่วนของ DNS server ออกจากกัน แต่ด้วย Active Directory การจัดเก็บค่าทั้งสองจะใช้รวมกัน ซึ่งจะให้ผลดีในการปฏิบัติงาน เสียแต่ว่าคุณจะต้องแก้ไขข้อมูลในส่วนของโดเมนและข้อมูลผู้ใช้เสียใหม่ เพราะรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลจะถูกเปลี่ยนไป นอกจากนี้ AD ยังช่วยให้คุณสามารถเชื่อมต่อไปยังโดเมนอื่นได้ โดยไม่ต้อง สร้าง trusted ระหว่างโดเมนแต่ละวง ซึ่งต่างจากในเอ็นที 4.0 ที่การเข้าไปยังโดเมนอื่นจะทำได้ก็ต่อเมื่อ โดเมนของคุณได้ trusted กับโดเมนที่คุณต้องการจะเข้าไปแล้วเท่านั้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีสำหรับเน็ตเวิร์กขนาดใหญ่ แต่การใช้งานคุณสมบัติทั้งหลายที่ได้กล่าวมาของ AD นี้ คุณจะต้องมีทรัพยากรของระบบเหลือให้กับ AD ได้ใช้มากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยความจำ หรือพื้นที่บนฮาร์ดดิสก์

ถ้าระบบที่คุณใช้ต่ออยู่ในโดเมนใดโดเมนหนึ่ง คุณสามารถใช้ประโยชน์จาก PDC (Primary Domain Controller) และ BDC (Backup Domain Controller) ในโดเมนแต่ละวง เพื่อรับประกันความปลอดภัยในการอัพเกรดของคุณไได้ โดยก่อนอื่นให้คุณแบ็คอัพวินโดวส์เอ็นทีเซิร์ฟเวอร์ที่คุณใช้อยู่ แล้วนำส่วนที่แบ็คอัพมาตั้งเป็น PDC ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น BDC โดยนำวินโดวส์เอ็นทีเซิร์ฟเวอร์ที่คุณใช้ (และต้องการจะอัพเกรดเป็นวินโดวส์ 2000) มาเป็น PDC แทน เท่านี้คุณก็จะสามารถอัพเกรดได้เต็มที่อย่างสบายใจ เพราะคุณสามารถดึงเอาระบบปฏิบัติการเดิมที่คุณแบ็คอัพไว้กลับมาใช้ได้ทุกเวลา (ด้วยการเปลี่ยนระบบที่คุณแบ็คอัพไว้ใน BDC มาเป็น PDC)

จากการทดสอบ เราไม่พบปัญหาใดๆ ในการเชื่อมต่อวินโดวส์ 2000 Professional กับวินโดวส์ 2000 เซิร์ฟเวอร์ เอ็นทีเซิร์ฟเวอร์ เน็ตแวร์เซิร์ฟเวอร์ และเน็ตเวิร์กที่ใช้โพรโตคอล TCP/IP นอกจากนี้เรายังไม่พบปัญหาทางด้านเน็ตเวิร์กใดๆ ที่เกิดจากการอัพเกรด เพราะวินโดวส์ 2000 สามารถเชื่อมต่อการทำงานทางด้านเน็ตเวิร์กโดยอาศัยข้อมูลจากระบบปฏิบัติการเดิมได้เป็นอย่างดี ในขณะที่การติดตั้งวินโดวส์ 2000 ลงใหม่โดยไม่ใช้การอัพเกรด ก็ไม่พบความยุ่งยากแต่อย่างไรเช่นกัน โดยวินโดวส์ 2000 จะมีโปรโตคอลแจ้งขึ้นมาให้คุณเลือกใช้ตามแต่ที่มันค้นหาเจอ

ในส่วนของวินโดวส์ 2000 เซิร์ฟเวอร์ คุณจะพบ 2 คุณสมบัติที่สำคัญคือ DDNS (Dynamic Domain Name System) และ DHCP (Dynamic Host Configuration Protocal) โดยคุณสมบัติแรกจะช่วยให้เซิร์ฟเวอร์ 1 เครื่อง สามารถมี IP ได้มากกว่า 1 แอดเดรส ส่วน DHCP จะช่วยในฝั่งไคลเอ็นต์ในการสุ่มค่า IP ให้โดยที่คุณไม่ต้องตั้งค่าเอง



เสร็จสิ้นจากการเตรียมพร้อม
หลังจากที่คุณเตรียมทุกอย่างพร้อมสำหรับการอัพเกรดวินโดวส์ 2000 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงวิธีการติดตั้งวินโดวส์ 2000 ที่คุณจะเลือกใช้กันบ้าง คุณสามารถติดตั้งวินโดวส์ 2000 (จะเป็นการติดตั้งลงบนพีซีที่ไม่มีระบบปฏิบัติ หรือเป็นการอัพเกรดจากระบบปฏิบัติการที่มีอยู่เดิมก็ตาม) ได้โดยใช้แผ่นซีดีรอมของวินโดวส์ 2000 อิมเมจดิสก์ หรือติดตั้งผ่านทางเน็ตเวิร์ก ซึ่งเป็นวิธีที่เราแนะนำสำหรับการอัพเกรดในองค์กรที่มีพีซีจำนวนมาก เพราะจะเป็นการสะดวกและรวดเร็วกว่า เนื่องจากผู้ควบคุมระบบสามารถเขียนสคริปสำหรับติดตั้ง ซึ่งอาจรวมเอาการติดตั้งไดรเวอร์ และแอปพลิเคชันเข้าไว้ด้วยได้

หลังจากการติดตั้งเป็นผลสำเร็จ สิ่งที่คุณจะพบนอกจากประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงขึ้นแล้วคือ องค์ประกอบและสภาพแวดล้อมของวินโดวส์ที่ใหม่ทั้งหมด เรียกได้ว่าแตกต่างจากวินโดวส์ 9x แบบเดียวกับที่คุณเคยรู้สึกเมื่อครั้งที่คุณเปลี่ยนระบบปฏิบัติการจากวินโดวส์ 3.x มาเป็นวินโดวส์ 95 เลยทีเดียว แต่การเปลี่ยนรูปโฉมของวินโดวส์ 2000 ในครั้งนี้ อาจจะเป็นประเด็นที่ผู้คนพูดถึงไม่มากนัก เนื่องจากมีจุดอื่นของวินโดวส์ 2000 ที่น่าสนใจกว่า นั่นคือการอัพเกรดรวมไปถึงการติดตั้งวินโดวส์ 2000 ซึ่งจัดได้ว่ายุ่งยากที่สุดในบรรดาการอัพเกรดหรือติดตั้งระบบปฏิบัติการที่ไมโครซอฟท์เคยมีมา ก็ได้แต่หวังว่าคุณๆ จะโชคดีในการอัพเกรดครับ



ขั้นตอนง่ายๆ ก่อนการอัพเกรด
ลองปฏิบัติตามหัวข้อต่อไปนี้ ก่อนที่คุณจะอัพเกรดมาใช้วินโดวส์ 2000
- สำหรับผู้ใช้วินโดวส์ 3.x หรือ 9x ถ้าเป็นไปได้ ควรอัพเกรดมาเป็นวินโดวส์เอ็นทีเวิร์กสเตชัน 4.0 ก่อน เพราะระบบปฏิบัติการนี้มีส่วนคล้ายกับวินโดวส์ 2000 Professional เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังช่วยให้คุณได้ผลในการตรวจสอบความคอมแพตทิเบิ้ลของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่เชื่อถือได้มากขึ้น
- ใช้ Hardware Compatibelity List ของไมโครซอฟท์ ซึ่งจะมีอยู่ในแผ่นซีดีของวินโดวส์ 2000 ตรวจสอบพีซีของคุณ เพื่อให้แน่ใจว่าพีซีของคุณ (ในกรณีของพีซีมียี่ห้อ) หรืออุปกรณ์ทั้งหมดที่อยู่ในระบบของคุณ (ในกรณีของพีซีไม่มียี่ห้อ) รวมไปถึงอุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ ในองค์กรของคุณ (เช่น เครื่องพิมพ์) มีรายชื่ออยู่ในลิสต์ดังกล่าว เพื่อให้การอัพเกรดวินโดวส์ 2000 ของคุณเป็นไปได้ด้วยดี
- ก่อนการอัพเกรด คุณควรแบ็กอัพระบบของคุณเอาไว้ก่อน โดยอาจจะจัดเก็บไว้ในเทป, CD-RW หรือในอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลรูปแบบอื่นๆ ตามแต่ที่คุณสะดวก และให้แน่ใจว่าคุณได้แบ็คอัพไฟล์ทั้งหมดแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ไฟล์ที่ไม่แสดงออกมาให้เห็น (hidden files)
- ตรวจสอบดูว่าบริษัทผู้ผลิตแอปพลิเคชันที่คุณใช้อยู่ มี migration DLL เวอร์ชันสำหรับวินโดวส์ 2000 หรือไม่ เพราะถ้ามีจะช่วยให้การติดตั้งแอปพลิเคชันหลังการอัพเกรดของคุณง่ายขึ้น
- นอกเหนือจากการแบ็กอัพระบบของคุณแล้ว คุณควรแบ็กอัพข้อมูลของแอปพลิเคชันที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขด้วย (อย่างเช่น ซอฟต์แวร์จำพวก spell-check) เพื่อที่คุณจะได้สามารถใช้งานแอปพลิเคชันได้ในแบบเดิม หลังการอัพเกรดวินโดวส์ 2000 และติดตั้งแอปพลิเคชันใหม่
- อย่าข้ามขั้นตอนการทำงานของ Upgrade Check-Only ในระหว่างการติดตั้งเป็นอันขาด เพราะการทำงานในโหมดนี้ จะช่วยแจ้งให้คุณรับรู้ถึงปัญหาที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นจากฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่อยู่ในระบบคุณ เมื่อทำงานกับวินโดวส์ 2000
- ศึกษาและทำความเข้าใจกับ NTFS 5.0 ให้ดีก่อนที่คุณจะตัดสินใจเลือกใช้ คุณสามารถเปลี่ยนระบบจัดการไฟล์มาใช้ NTFS 5.0 ได้โดยการคลิ้กเลือกเพียงครั้งเดียวในระหว่างการติดตั้ง แต่ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนกลับให้เป็นเหมือนเดิม คุณต้องฟอร์แมตฮาร์ดดิสก์ หรือไม่ก็แบ่งพาร์ทิชันใหม่
- อย่าลืมแก้ไขข้อมูลในส่วนของ DNS เซิร์ฟเวอร์ และข้อมูลของผู้ใช้ เพราะเมื่อคุณติดตั้ง AD ข้อมูลทั้ง 2 จะถูกนำมาจัดเก็บรวมกัน
- จะเป็นการดีกว่า ถ้าคุณจะทำการอัพเดตข้อมูลของผู้ใช้และ DNS เซิร์ฟเวอร์จากในส่วนของ PDC (Primary Domain Controller) เพราะเมื่อคุณอัพเกรดไปเป็นวินโดวส์ 2000 ข้อมูลเหล่านี้จะสามารถนำไปใช้กับ Active Directory ได้เลย

วินโดวส์ 2000 เบต้าเวอร์ชัน และนี่คือหนทางที่คุณจะสามารถหาเบต้าเวอร์ชันของวินโดวส์ 2000 มาทดลองใช้ก่อนได้
ไมโครซอฟท์ได้ปล่อยวินโดวส์ 2000 เบต้า 2 ซึ่งคละกันระหว่างวินโดวส์ 2000 Professional และวินโดวส์ 2000 Server กว่า 250,000 ชุดโดยประมาณให้กับบรรดาเบต้าเทสเตอร์และ OEM ได้ทดลองใช้งานกัน และคาดว่าในขณะที่คุณอ่านบทความนี้ ไมโครซอฟท์คงปล่อยเบต้า 3 ออกมาแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนมากกว่า 250,000 ชุด ถ้าคุณยังไม่มีเบต้าเวอร์ชันของวินโดวส์ 2000 และคุณเองมีความพยายามขวนขวายสักนิด เชื่อว่าคงไม่เป็นการยากที่คุณจะหาเบต้าเวอร์ชันของวินโดวส์ 2000 มาทดลองใช้ เพราะผมกำลังจะบอกวิธี (ที่ถูกต้อง) ให้กับคุณ

อย่างที่บอกไปแต่ตอนต้นว่า ไมโครซอฟท์จะแจกเบต้าเวอร์ชันให้กับเหล่าเบต้าเทสเตอร์ แต่ถ้าคุณคิดจะไปสมัครเป็นเบต้าเทสเตอร์ในตอนนี้คงสายเกินไป เพราะไมโครซอฟท์ปิดรับสมัครไปแล้วอย่างเป็นทางการ แต่ทว่าอาจมีที่ว่างเหลืออย่างไม่เป็นทางการสำหรับคุณ ถ้าคุณคิดว่ามีความมุ่งมั่นพอ ลองส่งเมล์ไปที่ admbeta@microsoft.com พร้อมทั้งร่ายความปรารถนาของคุณลงในเมล์ ถ้าวาทศิลป์ของคุณดีพอ คุณอาจโชคดีก็เป็นได้

อีกวิธีหนึ่งคือ การเข้าร่วมกับ MSDN (Microsoft Developer Network) ซึ่งคุณก็จะได้รับเบต้าของวินโดวส์ 2000 เช่นกัน โดยที่เว็บไซต์ของ MSDN (http://msdn.microsoft.com) แห่งนี้ จะมีข้อมูลของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ ของไมโครซอฟท์อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในส่วนของภาพรวม คุณสมบัติ ผลการทดสอบ ไปจนถึงวันออกวางจำหน่าย ซึ่งแน่นอนว่า มีข้อมูลของวินโดวส์ 2000 รวมอยู่ด้วย





Top