thaiall logomy background

จริยธรรมสำหรับผู้บริหาร หวานเป็นลมขมเป็นยา - 10

my town
ธรรมะ | ครู | สื่อ | ผู้บริหาร | พยาบาล | สาธารณสุข | เทคนิคการแพทย์ | ทันตแพทย์ | กฎหมายไอที | ศีล 5 | ผลกระทบ PDPA | งานมอบหมาย | เพิ่มประสิทธิภาพ |

10. "หวานเป็นลม ขมเป็นยา" ในการทำงาน

สำนวนไทยที่คนไทยจำนวนไม่น้อยจะคิด และ พูดเมื่อทานของขม เช่น ผักขม ๆ ว่าทานแล้วดี "ขมเป็นยา" ซึ่งความเป็นจริงแล้ว เป็นการใช้ที่ไม่ถูกต้อง
ความหมายของสำนวนไทยนี้ที่ว่า "หวานเป็นลม ขมเป็นยา" ความจริงแล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ "การกิน" แม้แต่น้อย เป็นคำเปรียบเปรยถึง "คำพูด" ของคนมากกว่า ที่คนอื่นพูดกับเรา ที่เราได้ยิน ได้ฟัง
หวานเป็นลม : คือ "คำพูดหวาน" ที่เป็นคำชม สรรเสริญ ชื่นชม พูดดี ยกยอปอปั้น เยินยอ หรือ คำพูดใด ๆ ที่เป็นเชิงบวก ท่านว่าให้ขอบคุณรับคำเหล่านั้นเป็นกำลังใจ แล้ว "ปล่อยผ่าน" ไปเหมือนลมพัดผ่าน เพื่อจะได้ไม่ลืมตัว ไม่เหลิง หลงระเริง คะนอง ขาดสติ หรือ ยกตนเหนือใคร จากคำพูดหวาน ๆ เหล่านั้น
ขมเป็นยา : คือ "คำพูดขม" ที่เป็นคำพูดที่ฟังแล้วเราอาจไม่สบายใจ ไม่รื่นหู เป็นคำเตือน คำตำหนิ เตือนสติ คำสอนเพื่อให้ปรับปรุงที่เป็นเชิงสร้างสรรค์ "ติเพื่อก่อ" (ไม่รวมพวกคำหยาบคาย คำตำหนิ หรือ คำด่าใด ๆ ที่มีอารมณ์เจือปน) ท่านว่าเมื่อได้ยินได้ฟังแล้วให้ "ตรึกตรอง" ให้มาก เสมือนมีกระจกสะท้อนความจริง พิจารณาว่าเป็นเรื่องดีที่มีคนเตือนเรา และ คำเหล่านั้นให้คิดว่าจริง หรือ ไม่ ถ้าจริงก็เป็นยาที่เตือนเราเพื่อปรับปรุงพัฒนาตนให้ไม่เป็นเช่นนั้นในเรื่องต่าง ๆ
ดังนั้น โดยสรุปแล้ว คำหวานให้เก็บเป็นกำลังใจแล้วรีบปล่อยผ่าน แต่คำขมให้มาพิจารณาแก้ไขพัฒนาตน
การทำงานก็เช่นกัน เราจะได้พบเจอคนต่าง ๆ มากมายรอบตัวเราทั้ง หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง คู่ค้า ลูกค้า คนในสังคมทั่วไป หากคนรอบตัวเหล่านั้นที่มีแต่ "คำหวาน" เราจะชอบ เพราะรื่นหู แต่ก็ควรปล่อยผ่าน แต่ถ้าเป็น "คำขม" ที่ทำให้เราต้องคิดเพื่อ พัฒนาตน พัฒนางาน พัฒนาความสัมพันธ์ ก็เป็นเรื่องที่เราควรใส่ใจมากกว่า
ท่านล่ะให้ความสําคัญกับคำหวานหูอยู่เสมอ หรือ คำตักเตือนเพื่อแก้ไขตน ไม่ซุก คำพูด นิสัย การกระทำไม่ดีที่เป็นเชิงลบซุกไว้ใต้พรมของตนเองมากกว่ากัน
ด้วยความปรารถนาดี
ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์
14 ธันวาคม 2562

Thaiall.com