|
คนเราจะมีประสาทสัมผัสทั้ง 5 เพื่อ "การรับรู้ (Perception)" ต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวกับทั้ง คน เรื่องราว เหตุการณ์ สิ่งต่าง ๆ เป็นต้น โดยการประเมิน และ การรับรู้นั้นมาจากพื้นฐานข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ส่วนตนผ่านจากค่านิยม (Values) และ ทัศนคติ (Attitudes) ที่มีเฉพาะของแต่ละคน และ จะแสดงออกต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างไรสำหรับตนเอง
ในแต่ละวันคนเรามีเรื่องราวมากมายหลายสิบหลายร้อยเรื่องที่คนจะตัดสินใจ "คิด พูด ทำ" กับงาน หรือ สิ่งต่าง ๆ ในแต่ละวัน ซึ่งแต่ละคนจะมีรูปแบบการแสดงออกต่างกันได้ 8 แบบที่เราพบเจอ
1) ไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ
เป็นลักษณะ คนไม่ทำอะไร ล่องลอย อยู่ไปวัน ๆ ไม่ส่งเสริมในงาน หรือ ถ้าทำอะไรก็ทำน้อยมาก ปิดโอกาสเติบโตก้าวหน้าในงาน หรือ ในวิถีชีวิตประจำวันก็ไม่มีบทบาทกับคนทั่วไป
2) ไม่คิด ไม่พูด ทำ
เป็นลักษณะคนที่เข้าใจแต่ตนเอง ทำเฉพาะหน้า รับผิดชอบในกรอบของตน สื่อสารน้อย จัดการงานที่เป็นงานประจำซ้ำ ๆ เหมาะกับงานมาตรฐานพื้นฐานไม่ต้องคิด ในวิถีชีวิตจะทำเฉพาะสิ่งที่ถูกจริต
3) ไม่คิด พูด ไม่ทำ
เป็นลักษณะคนที่หาได้มาก ทั้งในการทำงาน และ สังคม เพราะการพูดไปได้เรื่อย ไม่ยาก บางครั้งถ้าไม่ใช่เฉพาะส่วนตน แต่พูดเรื่องงาน เรื่องคนอื่นแบบพูดไม่รู้จักคิด อาจก่อให้เกิดปัญหาระหว่างกันได้ ในเรื่องวิถีชีวิตทั่วไปคือคนอยู่แบบล่องลอย ชอบวิพากษ์วิจารณ์ ใช้ปากเป็นอาวุธแบบ "พูดไม่รู้จักคิด"
4) คิด ไม่พูด ไม่ทำ
หากคนที่เป็นนักคิด นักจินตนาการ หากไม่สื่อสารกับใคร ไม่ลงมือทำ ก็จะเสมือนอยู่ในโลกเพ้อฝันได้ หากมีแนวคิด หรือ สิ่งใดที่คิดได้ดีแต่ไม่สามารถขยายผล ก็ไร้ผล ไม่มีคุณไม่มีโทษ และ ไม่มีประโยชน์ในงาน ต้องพิจารณาในการปรับตัวต่อไป วิถีชีวิตจะเป็นคนเก็บตัว ชอบสันโดษ ฝังใจกับเรื่องต่าง ๆ ของตน
5) ไม่คิด พูด ทำ
คนที่มีทักษะในการพูด เจรจา ไปพร้อม ๆ กับทำ หรือ ปฏิบัติได้ด้วย แต่สิ่งที่พูดทำนั้นแบบไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่มีระบบคิดที่ดีก็ต้องระวัง และ หากการสื่อสารออกไปมากเกินต้องระวังจะกลายเป็นขี้อวดได้
6) คิด ไม่พูด ทำ
ลักษณะคนที่คิด ไตร่ตรอง และ มีการทำตามคิด เป็นสิ่งที่ดี และ พึงประสงค์กับงาน และ เป็นที่ต้องการอย่างมากในทุกองค์กร ที่ทำให้งานต่าง ๆ ผ่านไปได้ด้วยดี แต่ขาดการพูดสื่อสาร จะเป็นรูปแบบปิดทองหลังพระ ที่คนอื่นอาจไม่ทราบถึงผลงาน ในชีวิตทั่วไปจะทำ มุ่งมั่น สิ่งที่ตนตั้งใจไว้โดยไม่บอกใคร
7) คิด พูด ไม่ทำ
เป็นแบบนักคิด และ พูดสื่อสาร แต่ไม่ลงมือทำ หากไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ แต่อาจเหมาะกับที่ปรึกษา หรือ คณะกรรมการที่ประชุมในเรื่องต่าง ๆ ได้ แต่ถ้าเป็นงานบางอย่างที่ต้องรอคนอื่นทำ ก็อาจไม่ทันท่วงที หากในชีวิตจริงจะเหมาะกับผู้รู้ ให้ข้อชี้แนะ กับคนอื่น ๆ ได้ แต่ถ้าส่วนตนอาจไม่มีอะไรคืบหน้า
8) คิด พูด ทำ
เป็นลักษณะของคนจริง ที่มีศักยภาพ สามารถคิดวิเคราะห์ สื่อสารพูดคุย และ พร้อมปฏิบัติ เหมาะที่จะเป็นหัวหน้างาน ผู้บริหารได้ ไม่ว่าในการทำงาน หรือ วิถีชีวิตก็สามารถมีแนวทางที่ดีของความเป็นผู้นำในเรื่องต่าง ๆ ได้
ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีใครเป็นแบบใดใน 8 แบบนี้ 100% หรือ แทบตลอดเวลา แต่อาจเกิดจาก บุคลิกภาพ สถานการณ์ โอกาส จังหวะ หรือ ช่วงวัย ที่สัมพันธ์กับที่ทำงาน และ สังคมนั้น ๆ หรือ กลุ่มคนนั้น ๆ ก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตาม คนเราสามารถเรียนรู้ ปรับตัว พัฒนา ได้ เพื่อให้เป็นแบบที่ 8 ที่เป็นทั้ง "นักคิด นักพูด นักทำ : Thinker Speaker Doer" ได้แบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อการเติบโตในงาน และ ชีวิตทั่วไป
ถ้าพูดถึง "คิด พูด ทำ" ทุกครั้ง (เคยเขียนบทความไปครั้งนึงนานแล้ว) ก็จะนึกถึง "ส.ค.ส. พระราชทาน รัชกาลที่ 9 ปี 2550" ที่ว่า
"คิดก่อนพูด พูดแล้วทำ ทำหลังคิด
คิดก่อนทำ ทำแล้วพูด พูดหลังคิด"
ตีความหมายได้ คือ ไม่ว่าจะพูด หรือ จะทำ ให้ย้ำต้อง "คิด" ก่อนด้วยเสมอ คิดก่อนพูด คิดก่อนทำ ย้ำให้แน่ใจ ว่าสิ่งที่พูด สิ่งที่ทำนั้น ผ่านการคิดไตร่ตรองว่าดีแล้ว สรุปคือ "คิด" เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และ ต้องมาก่อน
คนที่แย่กว่าทั้งหมด คือ 3 เรื่อง
พูดว่าคนอื่น "คิด" ไม่ดี แต่ตนเองก็ไม่คิดอะไรสร้างสรรค์
พูดว่าคนอื่น "พูด" ไม่ดี แต่ตนเองก็ดีแต่พูด
พูดว่าคนอื่น "ทำ" ไม่ดี แต่ตนเองก็ไม่ได้ทำอะไร
ซึ่งที่มาส่วนใหญ่ มาจากการ "พูด" ไม่ไตร่ตรอง อย่าเป็นคนดีแต่พูด คือพูดได้ แต่ทำไม่ได้ สำนวนไทยจึงมีคำว่า "อย่าละเลงขนมเบื้องด้วยปาก" คือ ดีแต่ใช้ปากพูด ซึ่งง่าย ไว้ทิ่มแทงคนอื่นได้ อะไรไม่ดีโยนเป็น "ปัจจัยภายนอก (External Factor)" ที่หมายถึงคนอื่น ว่ากล่าวว่าเกิดจากคนอื่น แต่ถ้าจะหาอะไรดีได้ ก็จะมองแต่ "ปัจจัยภายใน (Internal Factor)" ว่าสิ่งดี สิ่งสำคัญ สิ่งใดสำเร็จ ล้วนมาจากตนเองนั่นเอง
ในเรื่องทั่วไป การแสดงออก หรือ พื้นฐานการพิจารณาคน อาจมีสิ่งเบี่ยงเบนการรับรู้ ตามทฤษฎีเรียกว่า "การรับรู้ที่ผิดพลาด (Perception Error)" ที่เกิดจากตัวเรา เช่น คิดแบบหนึ่ง แต่พูด และ / หรือ ทำไปอีกทาง ( หรือ อาจจำใจ) ก็เกิดความไม่สบายใจ ทุกข์ใจได้ ในขณะที่หากเราจับสังเกตได้ว่า สิ่งที่คนอื่นพูด และ / หรือ แสดงออกไม่จริง (Fake) เราก็ลดความเชื่อมั่นไว้วางใจในปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันต่อไป หรือ ส่วนที่พิจารณาคนอื่น ก็ต้องระวังการรับรู้ผิดพลาดที่เรา "ตีความ" เจตนารมณ์ หรือ เป้าหมายเขาผิดเพี้ยนไปได้เช่นกัน
ท่านล่ะมีระบบ คิด พูด ทำ อย่างไร ถ้าคิด แล้วเป็นคิดแล้วคิดอีกไหม ถ้าพูดจะคิดก่อนพูดไหม หรือ จะทำอะไรคิดก่อนทำ หรือ เปล่า และ สิ่งที่ คิด พูด ทำ นั้นตรงกับใจ ตรงกับจริต ถูกต้อง และ มีประโยชน์ใช่ หรือ ไม่? มีคำกล่าวของสโมสรโรตารี่สากลที่เรียกว่า "The Four Way Test (การทดสอบ 4 แนวทาง)" ว่าสิ่งนั้น ๆ 1.เป็นความจริง 2.อิงเที่ยงธรรม 3.นำไมตรี 4.ดีทุกฝ่าย จริง หรือ ไม่ ถ้าใช่ สิ่งที่ คิด พูด ทำ นั้นก็เป็นสิ่งสมควร
ด้วยความปรารถนาดี
ผศ.ดร.กฤษฎา ตันเปาว์
1 พฤศจิกายน 2564
|