# 92 บทความด้านไอทีในงานประชุมนานาชาติ
25 มิถุนายน 2550 - 30 มิถุนายน 2550
จากการเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอบทความวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของนักศึกษา และอาจารย์ในกลุ่มวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มาจากทุกภาคของประเทศ เครื่องมือที่ใช้นำเสนอคือโปรแกรม Powerpoint ผู้นำเสนอทุกท่านนำเสนออย่างเป็นขั้นตอน มักเริ่มจากชี้แจงวัตถุประสงค์ ทบทวนวรรณกรรม ทฤษฎีที่ใช้ ผลการดำเนินงาน และบทสรุป เวลาที่ใช้นำเสนอทั้งหมดให้ไว้ไม่เกิน 15 นาที และเชื่อว่าผู้นำเสนอทุกคนรู้สึกว่าน้อยเกินไป เพราะมีเรื่องที่ต้องชี้แจงมากมายจนหัวหน้าห้องนำเสนอ (Chair Session) ต้องกดกริ่ง เพื่อส่งสัญญาณว่าหมดเวลาแล้ว การซักถาม หรือเสนอแนะจากผู้ร่วมรับฟังเป็นไปอย่างจำกัดด้วยเงื่อนไขด้านเวลา เพราะต้องกำหนดตารางคิว (Queue) ให้กับผู้นำเสนอได้นำเสนอผลงานครบทุกคนในเวลาที่จำกัด
หัวข้อที่ผู้เขียนประทับใจมี 4 เรื่อง โดยพิจารณาจากหัวข้อ และการเตรียมตัวของผู้นำเสนอ เรื่องแรกคือ การประยุกต์เอเจนท์แบบเคลื่อนที่สำหรับการประมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดย จามิกร หิรัญรัตน์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่องที่สองคือ การแก้ปัญหาความกำกวมของคำโดยใช้เทคนิคการตัดคำสำหรับคลังข้อความ Senseval-2 โดย กาญจนา ทองกลิ่น จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่องที่สามคือ การจำแนกบรรทัดข้อความออกจากคัมภีร์ใบลาน โดย โอฬาริก สุรินต๊ะ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรื่องที่สี่คือ เปรียบเทียบประสิทธิภาพวิธีการไขว้เปลี่ยนใน LZWGA โดย สมรักษ์ นุ่มนาค จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทฤษฎีที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในการนำเสนอของกลุ่มวิทยาการคอมพิวเตอร์ คือ ขั้นตอนเชิงพันธุกรรม (Genetic Algorithm) เป็นทฤษฎีที่จําลองกระบวนการวิวัฒนาการทางธรรมชาติ คือ การคัดเลือกที่อาศัยฐานความคิดทางพันธุกรรมในการถ่ายทอดลักษณะจากรุ่นสู่รุ่น ที่สามารถนําไปใช้หาคําตอบที่เหมาะสมที่สุดของแต่ละปัญหา ซึ่งมีขั้นตอนหลัก 3 กระบวนการ คือ การคัดเลือก (Selection) การสับเปลี่ยนค่าโครโมโซม (Crossover) และการกลายพันธุ์ (Mutation)
มีทฤษฎีมากมายในโลกเทคโนโลยีสารสนเทศที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ อาจมีหลายทางเลือกในแต่ละทฤษฎี จึงมีการวิจัยเชิงเปรียบเทียบที่ผสมผสานหลายทฤษฎีเข้าด้วยกันอยู่เสมอ การศึกษาเหล่านั้นนำไปสู่การพัฒนาทฤษฎีใหม่ ทางออกที่เหมาะสม หาข้อสรุป หรือแก้ข้อสงสัยจากสมมติฐาน เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้ หาปัญหา หาวิธีแก้ ทดสอบใช้งาน ปรับปรุงให้ดีขึ้น หาปัญหาใหม่ และหาวิธีแก้ไขใหม่ จะดำเนินเป็นวัฎจักรอย่างนี้เรื่อยไปตราบเท่าที่ยังมีมนุษย์ขี้สงสัยอยู่ในโลกนี้