# 176 วิกฤตความเป็นส่วนตัวของคนไอที
16 กุมภาพันธ์ - 22 กุมภาพันธ์ 2552
คุณอัศนีย์และวสันต์ได้ร้องเพลงชื่อ ได้อย่างเสียอย่าง เป็นชื่อเพลงที่กล่าวได้อย่างถูกต้อง การจะได้อะไรมาย่อมต้องเสียอะไรไปเป็นหลักการแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในวิถีธรรมชาติ เช่น สิงห์โตจะอยู่รอดได้ก็ต้องกินสัตว์อื่นเป็นอาหาร มนุษย์จะอยู่รอดได้ก็ต้องฆ่าสัตว์อื่นมาทำอาหารหรือไม่ก็จ้างให้คนอื่นฆ่าสัตว์มาทำเป็นอาหารให้กับตน มนุษย์ยุคใหม่เคยชินกับการเป็นผู้รับมากกว่าผู้ให้ ทรัพยากรส่วนใหญ่บนโลกถูกเปลี่ยนเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อมนุษย์เพียงสายพันธ์เดียว และมีแนวโน้มที่ใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ การพยายามชวนให้มนุษย์ลดการใช้ทรัพยากรหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูจะไม่เป็นผล มีผู้สูงวัยท่านหนึ่งที่ผู้เขียนร่วมเดินทางไปกรุงเทพกับท่านได้พูดขึ้นเมื่อเห็นแสงไฟระยิบระยับอย่างกับวิมานของโรงแรมที่ตั้งอยู่กลางกรุงเทพว่า "ค่าไฟฟ้าโรงแรมนี้คงมากกว่าที่ใช้ในบ้านเฮาทั้งหมู่บ้าน แล้วนี่มาเขให้เราประหยัด ดูทำกันเข้าสิ" ผู้เขียนก็ตอบไปว่านี่แหละครับวิถีคนกรุง
ปีพ.ศ.2550 มีกฎหมายฉบับหนึ่งกำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเก็บข้อมูลการใช้งานของสมาชิกทั้งเวลาเข้าใช้ หมายเลขเครื่อง และแหล่งข้อมูลที่เข้าถึง ผู้ให้บริการจึงมีสิทธิที่จะทราบหรือเฝ้าติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของสมาชิกโดยละเอียด ซึ่งก่อนหน้านี้อาจทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะข้อมูลของสมาชิกมีความเป็นส่วนตัวสูง แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องก้าวล่วงความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ก็เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการสืบสวนในกรณีที่ผู้ต้องสงสัยใช้ประโยชน์จากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางในการก่อเหตุ
ทุกวันนี้คนไทยต้องแลกความเป็นส่วนตัวกับการรักษาความปลอดภัยให้แก่ส่วนรวม เช่น การส่งสำเนาบัตรประชาชนเพื่อลงทะเบียนขอใช้โทรศัพท์ การดักจับข้อมูลขณะใช้งานอินเทอร์เน็ตของสมาชิกที่ต้องทำในทุกเครือข่าย การไม่สามารถจดทะเบียนสมรสซ้อนจากระบบตรวจสอบสถานภาพสมรส แต่ดูเหมือนคนไทยจะมีสิทธิ์ที่เพิ่มขึ้น เช่น สิทธิ์ในการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อจากนางเป็นนางสาว สิทธิ์ในการรวมตัวของกลุ่มคนอย่างสันติเพื่อเรียกร้องบางสิ่งจากภาครัฐ เคยมีผู้นำคนหนึ่งพูดว่าเมื่อมีสงครามก็ต้องมีความสูญเสีย เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องเพราะเราได้เห็นข่าวทางทีวีว่าการรวมกลุ่มอย่างสันติเพื่อเรียกร้องแต่ละครั้งเกิดผลในเชิงลบต่อผู้คนเป็นวงกว้างเพียงใด