# 237 แผ่นบูลเรย์สำหรับผู้นิยมของใหม่
19 เมษายน - 25 เมษายน 2553
การพัฒนาของสื่อมัลติมีเดียก้าวไปอีกขั้น ซึ่งมีวิวัฒนาการเรื่อยมาจากที่เคยมีแผ่นดิสก์ ขนาด 8 นิ้วเป็น 5.25 นิ้วมีความจุ 360 KB และ 3.5 นิ้วความจุ 1.44 MB จากนั้นก็มีแผ่นซีดีรอม (Compact Disc-Read Only Memory) แบบอ่านอย่างเดียวมีความจุถึง 650 MB จนไปถึงแผ่นดีวีดีมาตรฐาน (Digital Versatile Disc) ความจุ 4.7 GB แผ่นซีดีและแผ่นดีวีดีได้รับความนิยมในการบันทึกภาพยนต์ แล้วจำหน่ายโดยผู้ผลิตภาพยนต์ เนื่องจากมีความจุสูง และมีต้นทุนต่ำ สำหรับสื่อที่ได้รับความนิยมสูงจนน่าจับตาคือแฟรชไดร์ฟ (Flash Drive หรือ Thumb Drive) ซึ่งผู้ใช้ทั่วไปนิยมซื้อไว้เก็บข้อมูลเนื่องจากนำไปเขียนข้อมูลและพกพาได้สะดวก
สื่อตัวใหม่ที่เริ่มได้รับความนิยมนำไปบันทึกภาพยนต์คุณภาพสูง คือ บลูเรย์ดิสก์ หรือบีดี (Blu-ray Disc) อยู่ในรูปของแผ่นออพติคอลมีรูปลักษณ์ภายนอกคล้ายแผ่นซีดีรอม แผ่นบลูเรย์แบบเลเยอร์เดียว (Single Layer) มีความจุ 25 GB และแบบสองเลเยอร์ (Double Layer) มีความจุ 50 GB ส่วนแผ่นแบบสองเลเยอร์สองหน้า BD-R (2DL) มีความจุ 100 GB สำหรับเครื่องอ่านเขียนบลูเรย์มีความเร็ว 1x จะบันทึกข้อมูลได้เร็วถึง 36 Mbps ซึ่งเร็วกว่าความเร็วของเครื่องอ่านเขียนซีดีรอมที่ความเร็ว 1x จะบันทึกข้อมูลได้เพียง 150 KBps เท่านั้น
ปัจจุบันมีแผ่นภาพยนต์แบบบลูเรย์ดิสก์ ซึ่งหลายท่านบอกว่าภาพคมอย่างที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน เพราะแผ่นซีดีภาพยนต์ทั่วไปใช้พื้นที่เก็บข้อมูลเพียง 1 GB แต่ในแผ่นบลูเรย์ใช้พื้นที่กว่า 30 GB ปัจจุบันเครื่องเล่นแบบนี้ยังไม่ได้รับความนิยม ทำให้ราคาเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 8,000 บาท ส่วนแผ่นบลูเรย์มีราคาหลายร้อยบาท จึงคาดได้ว่ามีปัญหาในการทำตลาดแน่นอน เพราะตัวเลือกเกี่ยวกับภาพยนต์คุณภาพสูงในท้องตลาดมีอยู่ไม่น้อย สำหรับผู้บริโภคที่ไม่นิยมซื้อสินค้าราคาสูงอาจเลือกซื้อแผ่นดีวีดีภาพยนต์ราคาไม่ถึง 100 บาทแต่มีมากถึง 8 เรื่องหรือราคาเรื่องละประมาณ 12 บาทเท่านั้นหาซื้อได้จากร้านสะดวกซื้อทั่วไป ส่วนจำนวนแผ่นภาพยนต์บลูเรย์ก็ยังมีไม่มากนัก แต่ความเป็นไปได้ที่จะทำให้แผ่นบลูเรย์อยู่รอดน่าจะเป็นการสร้างความแตกต่างในตัวภาพยนต์นอกเหนือจากความชัด จำนวนภาษา หรือระดับเสียง ก็มีเพียงการเป็นภาพยนต์สามมิติ แต่มิใช่เรื่องง่ายที่จะเป็นเช่นนั้น