บาร์โค้ดที่พบในแบล็คเบอรี่
 
# 242 บาร์โค้ดที่พบในแบล็คเบอรี่
24 พฤษภาคม - 30 พฤษภาคม 2553

    บาร์โค้ดถูกพบบนสินค้าทั่วไป หรือติดบนชั้นวางสินค้าในห้างสรรพสินค้า เพื่อใช้แทนการแสดงรหัสสินค้าที่เป็นตัวเลขโดยใช้สัญลักษณ์แท่งสีดำและสีขาวเรียงรายอย่างเป็นระเบียบที่มีความหนาบางและห่างที่ไม่เท่ากัน แล้วใช้เครื่องอ่านบาร์โค้ดยิงแสงแล้วรับข้อมูลการสะท้อนแสงกลับมาถอดรหัสเป็นข้อมูล บาร์โค้ดได้รับสิทธิบัตรเมื่อ 7 ตุลาคม พ.ศ.2495 ส่วนรหัสที่ใช้ในปัจจุบันและยอมรับกันมากคือ EAN (European Article Number) หลังจากผ่านไปกว่า 40 ปีก็มีการพัฒนาบาร์โค้ดขึ้นอีกมากมาย และหนึ่งในบาร์โค้ดที่ได้รับความนิยมได้แก่ บาร์โค้ด 2 มิติหรือคิวอาร์โค้ด (QR Code) คือรหัสแบบหนึ่งที่เก็บข้อมูลได้ทั้งตัวเลขและตัวอักษรมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสที่มีลายจุดสีดำใหญ่สามมุม มักใช้เก็บข้อมูลชื่อสินค้า ราคา เบอร์โทรศัพท์ และที่อยู่เว็บไซต์ มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อแบล็คเบอรี่

    คิวอาร์โค้ดถูกคิดค้นและพัฒนาโดยบริษัทเดนโซ ประเทศญี่ปุ่น ในปีพ.ศ.2537 คำว่าQR มาจาก Quick Response แปลว่า การตอบสนองที่รวดเร็ว ปัจจุบันบาร์โค้ดชนิดนี้ได้รับความนิยมกับโทรศัพท์ที่มีกล้องถ่ายภาพ และติดตั้งซอฟท์แวร์ถอดรหัสภาพ ผู้ใช้สามารถใช้กล้องถ่ายบาร์โค้ดจากหนังสือพิมพ์ แผ่นป้ายโฆษณา หรือเว็บไซต์ แล้วถอดรหัสเป็นข้อความหรือที่อยู่เว็บไซต์แล้วบันทึกไว้ในโทรศัพท์ ซึ่งง่ายกว่าการพิมพ์ทีละตัวอักษร ความสามารถของคิวอาร์โค้ดสามารถนำเสนอข้อมูลเลขอารบิกได้ถึง 7,089 ตัว หรือบันทึกตัวอักษรแปดบิทได้ 2,953 ไบท์

    ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2553 บริษัท มีเดีย สตูดิโอ จำกัด ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) สร้างนวัตกรรมการสื่อสารกับผู้ชม โดยเปิดให้ผู้ชมมีส่วนร่วมโดยใช้บาร์โค้ดแบบคิวอาร์โค้ดที่นับว่าทันสมัยที่สุด ได้สแกนบาร์โค้ดของรายการโทรทัศน์และเพิ่มรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อแบล็คเบอรี่ (BlueBerry Mobile) ของตนสำหรับติดต่อกับรายการหรือทีมข่าว ซึ่งผู้เขียนก็ได้เห็นรายการที่คุณนารากร ติยายน ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ชวนให้เพิ่มรายชื่อผู้ติดต่อผ่านบาร์โค้ด สำหรับท่านที่ต้องการสร้างคิวอาร์โค้ดด้วยข้อมูลของตน สามารถเข้าเว็บไซต์ qrstuff.com qrcode.kaywa.com หรือ generator.beetagg.com เพื่อใช้บริการสร้างบาร์โค้ดแบบออนไลน์แล้วคัดลอกไปเผยแพร่ในสื่ออื่น ให้เพื่อนที่มีโทรศัพท์ BlackBerry และซอฟท์แวร์ถอดรหัสบาร์โค้ดได้ข้อมูลหรือข้อความสำหรับเชื่อมต่อ เช่น ผู้เขียนมีเว็บไซต์วิชาการก็จะสร้างคิวอาร์โค้ดแล้วพิมพ์สติกเกอร์ติดไว้หลังรถยนต์ เพื่อนที่ขับรถตามมาก็จะถ่ายภาพแล้วถอดรหัสเป็นข้อมูลสำหรับเข้าเว็บไซต์ของผู้เขียน เป็นต้น
บทความเมื่อเร็ว ๆ นี้
243. มองก้าวของระบบภูมิสารสนเทศ
242. บาร์โค้ดที่พบในแบล็คเบอรี่
241. เว็บรุ่นของเพื่อนเก่า
240. แฟชันสัตว์เลี้ยงในเว็บไซต์เครือข่ายสังคม
ค้นในบทความ
กลับหน้าแรก
Thaiall.com