|
# 307 เน็ตเร็วเหนือจินตนาการ
ราวปีพ.ศ.2540 มีบริการอินเทอร์เน็ตที่ใช้โมเด็มความเร็ว 14.4 Kbps และใช้โปรแกรมบราวเซอร์ของ Netscape ซึ่งเว็บไซต์ยอดนิยมคือ yahoo.com ส่วนนักพัฒนาเว็บไซต์ก็จะใช้บริการฟรีของ geocities.com ประกอบกับเทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงมีโมเด็มความเร็ว 28.8 และ 56 Kbps ตามด้วย ISDN ที่เร็วกว่าโมเด็มกว่าเท่าตัว แต่ ISDN ไม่เป็นที่นิยมมากนัก ในยุคนั้นร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เลือกใช้ด้วยโมเด็มเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการหลายราย แก้ปัญหาอินเทอร์เน็ตของรายหนึ่งหลุดก็ยังให้บริการลูกค้าต่อไปได้ และใช้ซอฟท์แวร์ช่วยทำการแบ่งปันการใช้งานของผู้ใช้ให้ออกไปยังผู้ให้บริการได้อย่างลงตัว
เทคโนโลยี DSL หรือบอร์ดแบนด์อินเทอร์เน็ต เริ่มให้บริการปลายปี 2547 และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เริ่มต้นที่ความเร็ว 256 Kbps มีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไปในแต่ละราย และการปรับปรุงอุปกรณ์ขยายโอกาสให้ผู้ใช้นอกเขตเมืองหลวงได้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การใช้โมเด็มกำลังจะหายไปจากเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งเครื่องตั้งโต๊ะ เครื่องโน๊ตบุ๊ค เครื่องเน็ตบุ๊ค สมาร์ทโฟน สำหรับเครื่องแท็บเล็ตพีซีหลายรุ่นไม่รองรับอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำอีกต่อไป การเชื่อมต่อแบบไร้สายในอาคารได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น พร้อมการมาของระบบไร้สายยุค 3G ไปถึง 4G
การพัฒนาความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก้าวกระโดดไปอีกขั้น โดยบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต จำกัด ได้นำเสนอ Ultra Hi-speed Internet ที่มีความเร็วหลายระดับให้เลือก เริ่มจาก 7 Mbps มีค่าใช้จ่าย 599 บาท/เดือน ไปจนถึง 100 Mbps มีค่าใช้จ่าย 4,999 บาท/เดือน ถ้าผู้ใช้ดูคลิ๊ปจาก youtube.com เรื่องหนึ่งใช้ความเร็วประมาณ 400 Kbps หากในบ้านมีสมาชิกดูคลิ๊ปพร้อมกัน 20 คน จะใช้ความเร็วประมาณ 8 Mbps บางทีการพัฒนาบริการที่ต้องดาวน์โหลดแบบใช้ bandwidth ปริมาณสูง อาจยังไม่ทันกับการพัฒนาความเร็วของสื่อรับส่งข้อมูล เพราะความเร็วระดับ 100 Mbps คงไม่เหมาะกับผู้ใช้ตามบ้าน เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์เปิดดูคลิ๊ปพร้อมกัน 2 เรื่องก็ยังใช้ความเร็วไม่ถึง 1 Mbps แล้วจะมีบริการอะไรที่จำเป็นต้องใช้ความเร็วระดับสูงสุด เป็นเรื่องที่น่าคิด และชวนให้ติดตามกันต่อไป
|
|