|
# 321 เพื่อนกับความเป็นส่วนตัว
เครือข่ายสังคมกลายเป็นเครื่องมือของสื่อมวลชน ได้รับความนิยมโดยเฉพาะนักการเมือง ดารา นักร้อง นักแสดง รวมถึงนักเรียน ข้าราชการ และคนทำงาน ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 54 ผู้เขียนเข้ารับการอบรมการใช้ social media จากคุณเมธา เกรียงปริญญากิจ เจ้าของเว็บไซต์ socialmer.com ผู้มีความเชี่ยวชาญเรื่อง social media ซึ่งให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว (privacy) และชี้ให้เห็นว่าสามารถใช้เครือข่ายสังคมอย่างไร ให้มีความเป็นส่วนตัว พร้อมยกตัวอย่างปัญหาของนักแสดงหนุ่ม และสาวที่ถูกอดีตคนรักออกมาเปิดเผยให้เสื่อมเสียผ่านเฟซบุ๊คดอทคอม ซึ่งเครือข่ายสังคมที่ได้รับความนิยมสูงสุด
มีคำถามว่าถ้าตัวเรามีเพื่อน 200 คน แล้วบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเพื่อนของเพื่อนมีได้ถึง 40,000 คน ส่วนสมาชิกในเฟซบุ๊คมีมากถึง 800 ล้านคน แล้วเรามีเกณฑ์ในการแบ่งปันข้อมูลอย่างไรที่เหมาะสม ซึ่งเฟซบุ๊คเปิดให้สมาชิกควบคุมการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวด้วยตนเองในหลายระดับ ถ้าไม่ปรับแก้สิทธิที่กำหนดมาในครั้งแรก ก็จะเปิดให้ทุกคนเข้าถึงความเป็นส่วนตัวได้ง่าย ดังนั้นการใช้งานเครือข่ายสังคมก็ต้องพิจารณา ถึงข้อมูลที่ต้องการเผยแพร่เป็นอันดับแรก และการกำหนดสิทธิของเพื่อน หรือกลุ่มเพื่อนก็จะสอดคล้องกับลักษณะข้อมูล
เฟซบุ๊คเป็นเว็บไซต์เครือข่ายสังคม มีบริการที่สำคัญ 3 ลักษณะ ได้แก่ profile, group และ page ซึ่ง profile และ group มีการควบคุมระดับความเป็นส่วนตัวที่เข้มงวด ส่วน page ถูกออกแบบเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร โดยระดับความลับสูงสุด คือ ประเภท profile เพราะมีรายละเอียดให้กำหนดมากมายเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ส่วน group เปิดให้การควบคุมสามารถทำได้หลายคน ส่วน page เน้นที่การประชาสัมพันธ์ วัดความสำเร็จจากจำนวนเพื่อนที่เข้ามากดปุ่ม like การกำหนดความเป็นส่วนตัว จึงมีระดับต่ำสุดในบรรดาประเภทของบริการในเครือข่ายสังคม
|
|