# 328 กรณี Lisa กับ Mac ใน Apple
อ่านหนังสือ Steve Jobs by Walter Isaacson ที่แปลโดยคุณณงลักษณ์ จารุวัฒน์ บทที่ 13 พบประเด็นเชื่อมโยงระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ 2 รุ่น ที่เปิดตัวในมกราคม ค.ศ.1983 และมกราคม ค.ศ.1984 ถูกผลิตโดยบริษัท Apple เป็นบทเรียนที่น่าสนใจ ทำให้ได้เราเรียนรู้ถึงวิธีคิดของมนุษย์ท่ามกลางการแข่งขันในอีกชุมชนหนึ่ง จากการฟังคุณสุทธิชัย หยุ่น ที่พูดคุยเกี่ยวกับสตีฟ จ็อบส์หลายครั้ง ทำให้ทราบว่าหนังสือเล่มนี้มิได้นำเสนอเฉพาะด้านบวก แต่ตีแผ่ชีวิตครบรสของมนุษย์ที่หาอ่านได้ยาก มีทั้งพฤติกรรมที่น่าชื่นชม และน่ารังเกียจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ผ่านการสัมภาษณ์ของผู้คนรอบกายสตีฟหลายสิบคนที่มีทั้งรักและไม่รักเขา
โครงการ Lisa (Local Integrated Systems Architecture) เคยเป็นของสตีฟ แต่เขาถูกถอดจากโครงการนี้ แล้วไปทำโครงการ Macintosh ที่เคยเป็นโปรเจ็กต์ง่อนแง่น การแข่งขันชิงเด่นระหว่างโครงการต่าง ๆ ในบริษัทเดียวกันสามารถพบได้ในบริษัทขนาดใหญ่ทั่วไป เพราะธรรมชาติของมนุษย์ย่อมต้องการเอาชนะ เหยียบคนอื่นขึ้นไปให้สูงขึ้น สตีฟเองก็เป็นเพียงปุถุชนธรรมดาคนหนึ่ง ผลการแข่งขันของ 2 โครงการ สรุปได้ว่าโครงการ Lisa ล้มเหลว แต่ต่อมาเป็นความสำเร็จของเครื่อง Mac ที่สตีฟดูแลอยู่ ที่มาของชื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ Lisa นั้นถูกตั้งขึ้นตามชื่อลูกสาวที่สตีฟเคยปฏิเสธการเป็นพ่อ ถึงขั้นขึ้นศาลพิสูจน์ดีเอ็นเอมาแล้ว
เหตุผลหนึ่งที่น่าเชื่อว่าเครื่อง Lisa ต้องหยุดการผลิตหลังเปิดตัวได้ 2 ปี เพราะสตีฟในฐานะ CEO ของบริษัทให้สัมภาษณ์กับนิตยสารหลายฉบับในการเปิดตัวเครื่อง Lisa และผลจากการให้สัมภาษณ์ นิตยสาร Fortune ตีพิมพ์ว่า "ปลายปีนี้ Apple จะวางตลาดคอมพิวเตอร์อีกรุ่นหนึ่งที่มีสมรรถนะน้อยกว่า ราคาถูกกว่า Lisa ชื่อ Macintosh จ็อบส์เป็นผู้ควบคุมโปรเจ็กต์เองทั้งหมด" จากข้อความทำนองนี้ในนิตยสารหลายฉบับ ทำให้เชื่อได้ว่าผู้มีกำลังซื้อส่วนหนึ่งตัดสินในชะลอการซื้อคอมพิวเตอร์ออกไป แล้วรอการมาของเครื่อง Mac ทำให้เชื่อว่าการที่ Lisa สูญเสียลูกค้าและหยุดการผลิตในเวลาเพียง 2 ปีนั้น กลับส่งผลดีต่อเครื่อง Mac จนกลายเป็นความสำเร็จก้าวใหญ่ของเทคโนโลยีที่น้อยคนจะไม่รู้จักเครื่อง Macintosh ของบริษัท Apple
|