#461 ผลสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 57
ข้อมูลทางสถิติที่พบในสื่อมักมีที่มาในหลายรูปแบบ อาทิ ผลโพล ผลวิจัย รายงานผลการศึกษา หรือผลสำรวจ โดยผลวิจัยถูกยอมรับว่าน่าเชื่อถือกว่าแบบอื่น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสพธอ. ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย ช่วงเมษายน ถึงพฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่าคนไทยทำอะไรในอินเทอร์เน็ตกันบ้าง แต่ข้อมูลจะมีประโยชน์ก็ต้องอาศัยกลไกทุกภาคส่วนเข้ามาแสดงบทบาท ติดตาม แก้ปัญหา หรือชี้นำสังคมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จึงจะทำให้ข้อมูลสถิติเหล่านั้นมีค่ากว่าการเป็นเพียงตัวเลขที่ปรากฎในสื่อ
มีผู้ตอบแบบสำรวจครั้งนี้มีทั้งสิ้น 16,596 คน พบว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในปีนี้ใช้งานนานกว่าในปีที่ผ่านมาโดยเพิ่มจากเฉลี่ยวันละ 4.6 ชั่วโมงต่อวันในปีที่ผ่านมา เป็น 7.2 ชั่วโมงต่อวันในปีนี้ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของแต่ละวัน และกลุ่มเพศที่สามใช้มากกว่าเพศอื่น คิดเป็น 8.87 ชั่วโมงต่อวัน เมื่อพิจารณาความแตกต่างของอุปกรณ์ พบว่า ผู้ที่ใช้ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่จะเน้นการใช้เพื่อการพูดคุยผ่านเครือข่ายสังคมเป็นอันดับแรก ตามด้วยอ่านข่าว และค้นข้อมูล ส่วนผู้ที่ใช้ผ่านคอมพิวเตอร์จะเน้นการใช้เพื่อรับส่งอีเมลเป็นอันดับแรก ตามด้วยค้นข้อมูล และอ่านข่าว
การใช้อินเทอร์เน็ตมีประโยชน์ แต่ก็มีโทษหรือมีความเสี่ยงแอบแฝงให้ได้เห็นตามข่าวบ่อยครั้ง โดยกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงคือ การเช็คอินผ่านเฟสบุ๊ค (Facebook.com) เพราะถ้าผู้ไม่ประสงค์ดีรู้ว่าเราทำอะไรที่ไหนอาจใช้เป็นข้อมูลกระทำสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมายได้ ส่วนการแชร์รูปภาพส่วนตัวในที่สาธารณะด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการ และไม่ตระหนักก็พบเห็นเป็นปัญหาอยู่เสมอ และการตั้งค่าสถานะเป็นแบบสาธารณะก็ย่อมทำให้ข้อมูลของเราไม่อยู่ในขอบเขตที่กำหนด เช่นกลุ่มเพื่อน หรือเฉพาะบุคคล ซึ่งข้อมูลของเราอาจเล็ดลอดไปถึงผู้ไม่ประสงค์ดีก็ได้ การตั้งค่าสถานะจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเข้าใจอย่างยิ่ง และกลุ่มอายุ 15 - 24 ปีก็จะแชร์รูปภาพส่วนตัวในที่สาธารณะ และกำหนดสถานะของตนเป็นแบบสาธารณะมากกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งไม่ใช่ทุกกลุ่มที่จะมองพฤติกรรมเหล่านี้เป็นความเสี่ยง กลับเห็นเป็นโอกาสก็เป็นได้ ซึ่งต่างคนต่างก็เชื่อแตกต่างกันตามบริบทของตน
http://www.arip.co.th/thailand-internet-user-profile-2014/