# 108 ช่างเทคนิคคาบแก้ว
29 ตุลาคม 2550 - 4 พฤศจิกายน 2550
เราคงเคยได้ยินคำว่ามังกรคาบแก้ว จากเพลงอาตี๋สักมังกร ของเพลิน พรหมแดน ถ้าฟังเพลงแล้วย้อนดูตนก็จะตีความได้หลายเรื่อง สำหรับบทความนี้ตีความหมายตามเนื้อเพลง เกี่ยวกับการสักยันต์ที่ว่ามังกรคาบแก้วก็จะผอม เพราะขณะคาบแก้วอยู่จะกินอะไรไม่ได้ หรือที่เรียกกันว่ากลืนไม่เข้าคายไม่ออก ผู้ให้บริการซ่อมบำรุงหรือช่างเทคนิคคอมพิวเตอร์ซึ่งมีหน้าที่บริการ คอยแก้ไขปัญหาทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ อาจมีสภาพไม่ต่างจากมังกรคาบแก้วในเพลงนี้
เมื่อมีหน่วยงานร้องขอให้ช่างเทคนิคคอมพิวเตอร์ไปแก้ปัญหาด้านฮาร์ดแวร์ ซึ่งเป็นงานตามปกติที่ต้องตรวจสอบในเบื้องต้นว่าแก้ไขได้ เปลี่ยนอุปกรณ์ที่มีอยู่ ส่งเครม ซื้อใหม่แทนที่เสีย หรือซื้อใหม่ทั้งชุด เพราะเครื่องรุ่น 80486 ที่ใช้มากว่า 10 ปี ถ้าเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์หรือแรมก็คงไม่คุ้มหรือหาซื้อไม่ได้ ถ้าหน่วยงานขอให้เปลี่ยนเครื่องเพราะเป็นเครื่องเก่า แต่งานที่ทำอยู่ประจำคือการพิมพ์บันทึกทั่วไป กลับต้องการจอแอลซีดี ระบบมัลติมีเดียครบชุด หรือโน๊ตบุ๊ค นอกจากไมโครซอฟต์เวิร์ดก็ใช้อะไรไม่เป็นหรือไม่อยากเป็น ครั้งจะให้คำแนะนำว่าให้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงก็ไม่เหมาะเพราะเกรงว่าค่าของคนอยู่ที่คนของใครจะเป็นจริง
บ่อยครั้งที่หน่วยงานขอความช่วยเหลือจากช่างเทคนิคไปติดตั้งโปรแกรมเพื่อความบันเทิง อาทิ โปรแกรมแชทไว้คุยกับใครต่อใคร โปรแกรมบิทโทเรนท์ไว้ดาวน์โหลดหนัง ซึ่งไม่ใช่ภารกิจของหน่วยงานนั้นแม้แต่น้อย เป็นการสนองความอยากด้านบันเทิง เพราะมีเวลาว่างจากทำงาน อยู่ห่างหูห่างตาเจ้านายหรือเจ้านายเป็นซะเอง ปัญหาคงไม่เกิดขึ้นถ้าช่างเทคนิคมีมากเกินความจำเป็นจนให้บริการได้เกินความต้องการที่แท้จริง แต่เกิดปัญหาขึ้นเมื่อกำลังทำงานให้หน่วยงานหนึ่งแล้วอีกหน่วยงานหนึ่งตามไปลงโปรแกรมสำหรับอ่านข่าวจากเน็ตโดยด่วน ครั้งจะพูดอะไรที่แรงแรงก็ไม่ได้อยู่ในสภาวะที่เรียกว่ามังกรคาบแก้วนั่นเอง
พนักงานบางคนเพื่อนเยอะ บางคนก็พาลูกมาเลี้ยงที่ทำงานก็ดูเป็นเรื่องปกติ แต่สมัยนี้เพื่อนมักส่งโปรแกรมหรือแฟ้มข้อมูลให้กันผ่านอีเมล แล้วลูกก็มักนำแฟ้มงานจากโรงเรียนมาพิมพ์ ปัญหาที่ตามคือไวรัส และไวรัสมากมายมาใหม่ซะจนอัพเดทโปรแกรมป้องกันไวรัสไม่ทัน วิธีป้องกันคือรักตัวเองไม่หาแฟ้มจากคนแปลกหน้ามาเข้าเครื่อง และภาระในการแก้ไวรัสตัวใหม่ที่แต่ละหน่วยงานสรรหามาทำลายตนเองก็จะเบาลง เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสังคมยุคไอทีที่ไม่รู้จักคำว่าพอเพียง และหวังว่าในหน่วยงานของท่านจะไม่มีมังกรคาบแก้ว